SportsStyle

วัลวิภา ดารารัตน์ สายเลือดชมรมเปตอง ม.ทักษิณ นักทอยแก่นทีมชาติไทย

0
คุยกับ “วัลวิภา ดารารัตน์” สายเลือดชมรมเปตอง ม.ทักษิณ นักทอยแก่นทีมชาติไทย


ห้วงเวลานี้วงการเปตองของไทยน้อยคนนักไม่รู้จัก วัลวิภา ดารารัตน์ นักเปตองสาวดาวรุ่งสายเลือดชมรมเปตองมหาวิทยาลัยทักษิณที่จบการศึกษาออกไปสร้างผลงานโดดเด่นที่สุดในปี 2561 นักกีฬาดีเด่นในรายการชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 38 และทะยานสู่ทีมชาติสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ เติมรอยยิ้มให้คนไทยด้วยเหรียญรางวัลจากการแข่งขัน

ว่าที่ร้อยตรีหญิงวัลวิภา ดารารัตน์ นักกีฬาเปตองทีมชาติไทย

เปตองทีมชาติไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.วิชัย ชำนิ เยี่ยมให้กำลังใจก่อนลงแข่งขันเมื่อยังเป็นนักกีฬาทีมมหาวิทยาลัยทักษิณ

“ในที่สุดก็ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยทักษิณได้ตามที่คาดหวัง เล่นเปตองในนามมหาวิทยาลัย   หนูเลือกไม่ผิดที่มาเรียนที่นี่ โอกาสที่มหาวิทยาลัยและชมรมเปตองมอบให้ได้สร้างโอกาสทั้งเรื่องการพัฒนาฝีมือและการศึกษา”  ว่าที่ร้อยตรีหญิง วัลวิภา ดารารัตน์ นักเปตองสาวทีมชาติไทยลูกหม้อชมรมเปตองแห่งมหาวิทยาลัยทักษิณกล่าวกับ we.tsu อย่างมีความสุข

  • จากนักวิ่งตัวเล็กสู่นักทอยแก่น

9 ขวบก็เริ่มเล่นเปตองแล้ว  คนที่ชวนเล่นคนแรกคือ “พ่อ” ที่หมู่บ้านของเรา ต.บ้านเกาะ อ.พรมหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช คนชอบเล่นเปตองกันมาก เล่นเพื่อผ่อนคลายจากการทำงานในสวนผลไม้ ไร่ผัก และสวนยางพารา  ช่วงค่ำคนที่นั่นจะรวมตัวกันเล่นเปตองในสนามของหมู่บ้าน

คุณพ่อวิมล ดารารัตน์ และ คุณแม่สุภาภรณ์ ทลิกรรณ์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

พ่อก็เป็นหนึ่งในคนที่ชอบเล่น หนูจึงตามพ่อไปแทบทุกครั้ง  แต่เป็นการเล่นสนุกสนานไปตามประสาเด็กๆ ใจจริงอยากเป็นนักกรีฑามากกว่า  ตอนเรียนชั้นประถมฯ สมัครเป็นนักวิ่งระยะสั้นของโรงเรียน แต่ครูบอกว่า “ตัวเล็ก ขาสั้น” คงวิ่งสู้คู่แข่งไม่ได้  ตอนนั้นผิดหวังมาก แต่ก็โชคดีที่โรงเรียนสนับสนุนกีฬาเปตองด้วย   หนูจึงได้เล่นกีฬาเปตองเป็นตัวแทนโรงเรียนในรุ่นอายุไม่เกิน 1 2 ปี

เมื่อจบ ป.6 ก็เข้าเรียนต่อ ม.1 ที่โรงเรียนพรหมคีรี  ที่นี่กลายเป็นจุดสำคัญของการเรียนรู้ศาสตร์ของการเล่นเปตองอย่างจริงจัง

ครูจับซ้อมใหม่หมด ก่อนหน้านี้ก็เล่นไปตามความรู้สึก ไม่มีเทคนิคอะไร ได้แต่ดูพ่อและลุงๆ ป้าๆ ในหมู่บ้าน เช่นลูกวาง ก็ปั่นไซด์โค้ง ทุกครั้ง การไปแข่งครั้งแรกจึงเป็นเพียงตัวสำรอง แต่ก็ได้เรียนรู้จากรุ่นพี่ ที่สำคัญจากการเป็นตัวสำรองกลายเป็นแรงฮึดกว่าต้องซ้อมหนักขึ้นเพื่อให้ได้เป็นตัวจริง”

  • จุดเปลี่ยนที่เกือบดับความฝัน 

หลังจากซ้อมหนักขึ้นก็ได้เล่นเป็นตัวจริงในรุ่นอายุ 15 ปี ของทีมโรงเรียนพรหมคีรี ทว่าในช่วงที่เรียนอยู่ชั้น ม.3 คุณครูให้ซ้อมหนักมาก บวกกับเป็นช่วงที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น วันหนึ่งหลังจากกลับจากโรงเรียน เดินไปบอกพ่อว่า จะเลิกเล่นเปตอง

คุณพ่อวิมล ดารารัตน์ และ คุณแม่สุภาภรณ์ ทลิกรรณ์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

“เราก้าวมาเกิน 50 % แล้ว เราเหนื่อยมาเท่าไหร่แล้ว หากจะกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ลูกคิดดูว่าจะคุ้มกันมั้ย”สิ้นเสียงพ่อ หนูก็ได้สติ และวันถัดไปก็กลับไปซ้อม

เมื่อเรียนในระดับมัธยมปลาย ทุกวันตอนเย็นหลังเลิกเรียนจะกลับบ้านช้ากว่าเพื่อนๆ เกือบค่ำโน่นแหละกว่าจะถึงบ้านเป้าหมายการเล่นเปตองก็ชัดเจนขึ้น คือ เล่นเพื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย และตั้งเป้าที่จะพัฒนาสู่การเข้าสู่อาชีพ “รุ่นพี่ที่ โรงเรียนพรหมคีรี คนหนึ่ง ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยด้วยโควตานักกีฬา และได้รับราชการเป็นทหาร ทำให้เป็นแรงบันดาลใจของตัวเองมาก ฝันว่าจะต้องเป็นแบบพี่ให้ได้” และตอนเรียนจบ ม.6 ก็มีมหาวิทยาลัยเสนอโควตานักกีฬาให้เลือก 3 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยทักษิณ ในที่สุดก็เลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยทักษิณ เพราะได้รับปากกับ ท่านอาจารย์พยัต คงศรีแก้ว และอาจารย์สิงหา ตุลยกุล ไว้แล้ว

  • นักเปตองทีมมหาวิทยาลัยทักษิณ

ในที่สุดก็เข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยทักษิณได้ตามที่คาดหวัง เล่นเปตองในนามมหาวิทยาลัยทักษิณเป็นครั้งแรก แต่ด้วยต้องแบกความคาดหวัง จนสร้างแรงกดดันให้ตัวเอง กีฬามหาวิทยาลัยครั้งแรก ต้องกลับมหาวิทยาลัยมือเปล่า พลาดเหรียญรางวัลทุกรายการ “กลับมาเปลี่ยนความผิดหวังเป็นการซ้อมหนักขึ้น อาจารย์และเพื่อนในทีมก็ให้กำลังใจและสนับสนุน จนความมั่นใจเริ่มกลับมา”

การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 41 “มอดินแดงเกมส์” เป็นกีฬามหาวิทยาลัยครั้งที่ 2 ที่เข้าร่วม คราวนี้คว้าเหรียญทองแดงคู่ผสมมาได้ ซึ่งเป็นเหรียญที่สร้างความมั่นใจให้ตัวเองว่าจะเดินทางสายกีฬาทอยแก่น ต่อไป

ตอนเรียน ปี 3 ซ้อมหนัก แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ซ้อมหนัก เมื่อทราบว่า อาจารย์พยัต คงศรีแก้ว อาจจะร่วมเดินทางไปคุมทีมไม่ไหวแล้ว เพราะต้องเดินทางไกล ในใจคิดว่าต้องทำอะไรตอบแทนอาจารย์ให้ได้ กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 42 “นนทรีเกมส์” ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จึงคว้าเหรียญทองหญิงคู่ได้สำเร็จ เป็นความสำเร็จที่เธอตั้งใจมอบให้ “ครู” และชมรมเปตองมหาวิทยาลัยทักษิณ

อาจารย์สิงหา  ตุลยกุล ผู้ฝึกสอนกีฬาเปตอง มหาวิทยาลัยทักษิณ

เราภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ วัลวิภา  ดารารัตน์ ได้ก้าวไปยังจุดสูงสุดของชีวิตนักกีฬา นั่นก็คือการได้เป็นตัวแทนนักกีฬาเปตองทีมชาติไทย เข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ  นั่นเป็นเพราะว่าเขาเป็นคนที่ตั้งใจฝึกซ้อม ตลอดทั้งมีความอ่อนน้อม มีสัมมาคารวะกับทุกๆคน จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาจะเป็นที่รักของทุก ๆ คน

กระผม ในนามของอาจารย์ บุลคลากร และสมาชิกในชมรมเปตอง ม.ทักษิณ ขอขอบคุณวัลวิภา  ดารารัตน์ที่ได้สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับชมรมเปตอง ม.ทักษิณ รวมทั้งได้เป็นแบบอย่างที่ดีและสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ ในชมรม  //อาจารย์สิงหา  ตุลยกุล ผู้ฝึกสอนกีฬาเปตอง มหาวิทยาลัยทักษิณ

นายพยัต คงศรีแก้ว ผู้ฝึกสอน และนางกานต์พิชา ควรหาเวช ผู้จัดการทีม มหาวิทยาลัยทักษิณ

ชมรมเปตองมหาวิทยาลัยทักษิณ

ชมรมเปตองมหาวิทยาลัยทักษิณ ก่อตั้งเมื่อปี 2532 จากความตั้งใจของ โค้ชพยัต คงศรีแก้ว  มีทั้ง 2 วิทยาเขตเขต  หลังจากมหาวิทยาลัยทักษิณขยายตัวเปิดการเรียนการสอนที่วิทยาเขตพัทลุง ชมรมเปตองก็ขยายตัวมีชมรมเปตองที่วิทยาเขตพัทลุงเช่นกัน

ชมรมเราอยู่แบบครอบครัว ทั้งทีมนักกีฬาและโค้ช พูกพันดูแลช่วยเหลือกันทุกเรื่อง ทั้งเรื่องกีฬาและการเรียน  เข้ามาก็ต้องซ้อมตอนเย็นทุกวัน เป็นชมรมที่เก็บตัวก่อนไปแข่งยิ่งช่วงปิดเทอมบางครั้งผู้จัดการทีมก็หุงข้าว ออกไปเก็บผักบุ้งมาผัดให้นักกีฬากิน — ว่าที่ ร.ท.นพดล  ชัยศิริ  ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนกล่าว

 

ชมรมเปตองมหาวิทยาลัยทักษิณ

ผู้ควบคุมทีมเปตองมหาวิทยาลัยทักษิณ
1. นางกนต์พิชา ควรหาเวช          ผู้จัดการทีม

2. อาจารย์สิงหา  ตุลยกุล             ผู้ฝึกสอนทีมชาย
3. อาจารย์ ดร.ดวงฤดี  พ่วงแสง   ผู้ฝึกสอนทีมหญิง

4. ว่าที่ ร.ท.นพดล  ชัยศิริ             ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน

กีฬาเปตองเป็นกีฬาชนิดเดียวของมหาลัยทักษิณที่โค้ชทำทีมร่วมกันของ 2 วิทยาเขต

 

ไอเดียเจ๋งระดับประเทศ “แผน PR : เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา 5 จังหวัดชายแดนใต้” ชนะเลิศ Young Justice Public Relations 2018

Previous article

เพิ่มมูลค่ายางธรรมชาติทำแผ่นปูพื้นลดการบาดเจ็บผู้ป่วยกายภาพบำบัดและผู้สูงอายุ ผลงานอาจารย์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

Next article

You may also like

Comments

Comments are closed.