careLife

สังคมพหุวัฒนธรรม สร้าง “ชยุต ตะทวี” เป็นนักพัฒนาชุมชนชายแดนใต้ที่มีความสุข

0

“ชยุต ตะทวี” คนหนุ่มจากสงขลา ผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ประเพณีภูมิภาคต่างๆ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีศิลปศาสตร์บัณฑิต การพัฒนาชุมชน(เกียรตินิยม อันดับ 2) รหัสนิสิต 561011225 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่งนักพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลคลองใหม่ จังหวัดปัตตานี

We TSU : หน้าที่ปัจจุบันของชยุต คืออะไร

ชยุต :  หน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะนักพัฒนาชุมชน ก็จะดูแลเรื่องของคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วไปในตำบล ตั้งแต่เรื่องของเด็กแรกเกิด สภาเด็กและเยาวชน กลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการ ศูนย์พัฒนาครอบครัว ศูนย์บริการคนพิการและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุผู้ด้อยโอกาส เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเบี้ยยังชีพคนพิการ และเบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์รวมไปถึงงานอื่นๆที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาครับ ทั้งยังมีการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมภูมิปัญญาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ในตำบล  นอกจากนี้ยังมีการร่วมทำงานกับส่วนราชการต่างๆ ด้วย

We TSU : ความสนุกและความท้าทายในฐานะคนทำงานชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้คืออะไรครับ

ชยุต :      ความสนุก ผมมองว่าเป็นเรื่องของพหุวัฒนธรรมครับ ที่นี่มีประเพณีวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น วัฒนธรรมการกิน วิถีชีวิต การแต่งกาย ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น ก็จะต้องเป็นสิ่งที่ผมต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ เนื่องจากผมเป็นคนชอบศึกษาประเพณีวัฒนธรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผมจึงรู้สึกมีความสุขและสนุกกับการได้เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ ครับ ส่วนเรื่องของความท้าทายในการทำงาน ก็คงจะเป็นเรื่องการทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงครับ ถือเป็นความท้าทายสำหรับเด็กจบใหม่อย่างผมที่เริ่มต้นการทำงานที่นี่ครับ เราจะต้องคอยระวังตัวเองด้วย แต่ทุกครั้งที่ผมทำงานผมมีความสุข เมื่อลงชุมชนก็สามารถรับรู้และสัมผัสได้ถึงความเมตตา ความรักและความน่ารักของชาวบ้าน อีกอย่างเรามีเจตนาที่ดีที่จะมาทำงานที่นี่มันเลยทำให้เราเต็มที่กับงานครับ ความรู้ที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การลงภาคสนามศึกษาชุมชนตลอดระยะเวลา 4 ปีสามารถประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ดี มันทำให้ผมเข้าใจความแตกต่างของบริบทชุมชนและสามารถปรับตัวได้ครับ  นอกจากหลักการการพัฒนาชุมชนที่ผมได้เรียนมาเพื่อใช้ทำงานแล้ว ผมยังยึดหลักการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาปรับใช้ด้วยครับ

We TSU : ทำไมถึงอยากรับราชการเป็นนักพัฒนาชุมชน

ชยุต :   ผมมองว่า ตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน เป็นตำแหน่งที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านมากที่สุด เป็นตำแหน่งที่จะสามารถพัฒนาคนและส่งเสริมศักยภาพต่างๆ ให้กับชาวบ้านในชุมชนได้ดี ทั้งยังเป็นตัวแทนภาครัฐในการนำนโยบายโครงการต่างๆ มาพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนได้อีกด้วยผมจึงเลือกที่จะเป็นนักพัฒนาชุมชนเพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่น่าจะสานฝันของผมได้ดีที่สุดครับ

We TSU : คุณเตรียมตัวสอบเข้าหนักแค่ไหนครับ

ชยุต :   ในช่วงที่ผมกำลังสอบปลายภาคของชั้นปีที่ 4 ก็มีข่าวว่าจะมีการเปิดรับสมัครสอบท้องถิ่น ผมจึงเริ่มค้นคว้าหารายละเอียดเกี่ยวกับการสอบท้องถิ่น ผมใช้เวลาในการรวบรวมเอกสารจากสื่อออนไลน์ต่างๆ และเริ่มอ่านอย่างจริงจังในเดือนมิถุนายน เพราะจะต้องสอบในปลายเดือนกันยายน เท่ากับว่าผมมีเวลาเตรียมตัวเพียงแค่ 3 เดือนเศษเท่านั้น มันไม่ง่ายเลยที่จะต้องทำความเข้าใจพระราชบัญญัติ ระเบียบกฎหมายกว่า 15 ฉบับในเวลาอันสั้น ผมจึงต้องวางแผนจัดระเบียบตัวเองเสียใหม่ผมใช้เวลาอ่านหนังสืออย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ผมทำแบบนี้เป็นประจำทุกวันเพื่อที่จะให้ตัวเองพร้อมให้มากที่สุด เพราะตำแหน่งนักพัฒนาชุมชนเป็นตำแหน่งที่คนสมัครสอบเยอะกว่าตำแหน่งอื่นๆ  เฉพาะภาคใต้เขต 2 คนสมัครสอบจำนวน 10,000กว่าคน ก็เท่ากับว่าผมจะต้องแข่งขันกับคนหมื่นคนเพื่อบรรจุตามอัตราว่างคิดเป็นอัตราส่วน 1 ต่อ 207

We TSU : แล้วชยุตกับขนมบูตู เกี่ยวอะไรกัน

ชยุต :    การเริ่มต้นการทำขนมบูตูของผมนั้น ก็ต้องย้อนไปเมื่อผมเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ชั้นปีที่2 ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอมใหญ่ ผมจึงเริ่มหาสิ่งต่างๆทำเพื่อไม่ให้เวลานั้นเสียโดยเปล่าประโยชน์ ประกอบกับระยะเวลานั้นเมืองเก่าสงขลากำลังมีกระแสการพัฒนาเมืองเป็นแหล่งท่องเที่ยว ผมจึงฉุกคิดขึ้นมาว่าบรรพบุรุษของผมนั้น มีตำหรับอาหารและขนมโบราณที่หลากหลายซึ่งปัจจุบันไม่สามารถหารับประทานได้แล้ว ผมจึงใช้เวลาว่างในการไปนั่งพูดคุยกับคุณย่า (เบ็ญจา มาสะพันธ์) ในวัย 90 ปีเศษอดีตแม่ค้าขนมอันโด่งดังของเมืองสงขลา ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่สาวแท้ๆ ของคุณย่าผม การสนทนาเป็นไปอย่างน่าสนใจเพราะว่าคุณย่าเบ็ญจาได้เล่าถึงเรื่องราวสำคัญต่างๆ ในอดีตที่เกิดขึ้นกับเมืองสงขลาผ่านความทรงจำ จนมาถึงเรื่องราวของอาหารและขนม ผมได้สะดุดใจกับขนมบูตู จึงได้ซักถามถึงลักษณะและวิธีการทำขนมบูตู เพราะตั้งแต่เกิดมาผมเองยังไม่เคยที่จะได้ทานขนมบูตูเลยเ มันสูญหายไร้ซึ่งผู้สืบทอดไปนานหลายปีแล้ว

We TSU : ตอนฟังเรื่องเล่าจากคุณย่าจบคิดอะไรไว้

ชยุต :    คิดว่าเราน่าจะทำให้ขนมบูตูพลิกฟื้นคืนชีพขึ้นมาในเมืองสงขลาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อบ่งบอกให้ผู้คนทั่วไปได้รับรู้ว่าเมืองสงขลาเราแต่เก่าก่อนนั้น ก็เคยมีขนมบูตู ขนมที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมการกินของชาวสงขลาอยู่คู่เมืองสงขลามาช้านานผมได้รับการถ่ายทอดวิธีการทำขนมบูตูจากคุณย่าเบ็ญจาซึ่งท่านชราภาพแล้วจึงไม่สามารถใช้แรงเพื่อถ่ายทอดวิธีการทำขนมได้โดยตรงทำได้เพียงแค่ถ่ายทอดผ่านคำบอกเล่าซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ยากและท้าทายมากเนื่องด้วยขั้นตอนที่หลากหลายและต้องอาศัยความชำนาญและพิถีพิถันในทุกขั้นตอน ผมศึกษาการทำขนมบูตูอยู่ประมาณ 1 เดือนเศษ กว่าจะเป็นขนมบูตูที่สมบูรณ์และได้รับความนิยมจนมีการนำเสนอผ่านรายการทีวีต่างๆมากมาย

We TSU : คุณเรียนรู้อะไรจากการทำขนมบูตูบ้าง

ชยุต :    อันดับแรกเลย คือ ความอดทนในการฝึกฝนทำในสิ่งที่ผมไม่เคยทำและมองว่ามันยากให้สำเร็จเพราะขั้นตอนการทำขนมแต่ละขั้นต้องฝึกฝนให้ชำนาญและใช้ความละเอียด การเรียนรู้ในการเลือกสรรวัตถุดิบ เช่น มะพร้าวก็จะต้องเป็นมะพร้าวทึนทึกที่ไม่อ่อนและไม่แก่จนเกินไป  น้ำตาลโตนด ก็ต้องเป็นน้ำตาลของแท้ ปัจจุบันมีการนำน้ำตาลทรายขาวมาผสมเพื่อลดต้นทุน เราจะต้องคัดเลือกให้ดีและหาร้านประจำ การได้น้ำตาลโตนดของแท้จะทำให้ขนมอร่อยและมีรสชาติกลมกล่อม  การเรียนรู้ต่อมา คือการได้เรียนรู้ที่จะเป็นนักบริหารจัดการที่ดี ซึ่งผมจะต้องคำนวณราคาต้นทุน ราคาขาย การคำนวณวัตถุดิบในแต่ละวัน การประชาสัมพันธ์ การเป็นเจ้าของกิจการที่ต้องจัดการร้านเมื่อมีการเหมาไปออกงาน หรือการรับสั่งทำขนมต่างๆ การออกแบบผลิตภัณฑ์ภายใต้แนวคิดรักษ์สิ่งแวดล้อมและคงคุณค่าทางวัฒนธรรม และอีกสิ่งที่สำคัญ คือการได้พูดคุยกับลูกค้าที่เคยได้สัมผัสกับขนมบูตูจากสถานที่ต่างๆ พบว่า ขนมบูตูนั้นเป็นขนมทางวัฒนธรรมของชาวมุสลิมในอดีต ปัจจุบันพบได้ในชายแดนใต้ของไทย เมืองปีนัง และเมืองมะละกา เป็นต้น



We TSU : สาขาบริหารการพัฒนาชุมชนนั้นให้ความสำคัญกับการฝึกงานในภาคสนามมาก และทราบว่าชยุตก็เลือกไปฝึกงานไกลถึงชุมชนในภาคเหนือ ลองเล่าช่วงฝึกงานให้ฟังหน่อยครับ

ชยุต :   สถานที่ที่พวกเราไปฝึกงานคือศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดเชียงใหม่ งานที่พวกเราทำหลักๆ คือ การเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องของการส่งเสริมอาชีพและเศรษฐกิจชุมชน การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น การทำข้าวกล้องงอก การทำไอศกรีมข้าวกล้องงอก การบรรจุภัณฑ์ข้าวชนิดต่างๆ เมื่อเดินทางไปถึงพวกเราก็สำรวจพื้นที่โดยรอบพร้อมทักทายเจ้าหน้าที่ พวกเรามานั่งจับเข่าคุยกันถึงวิธีการใช้ชีวิตในช่วง 4 เดือนนี้ไม่ให้เกิดปัญหาอุปสรรค สิ่งแรกที่ผมคิดว่าพวกเราจะต้องเรียนรู้และเข้าใจคือเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีความเชื่อ และ ภาษาถิ่น หากเราไม่เข้าใจภาษาถิ่น ก็จะทำให้เราสื่อสารกับชาวบ้านไม่ได้ หากเราสื่อสารกับชาวบ้านไม่ได้ การพูดคุย ความไว้ใจ ความสนิทสนม ความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันก็จะไม่เกิด หากความสัมพันธ์กับชาวบ้านไม่เกิดขึ้น งานพัฒนาของเราก็จะไม่สามารถตอบโจทย์และบังเกิดผลสำเร็จได้

We TSU : การฝึกงานเปลี่ยนมุมมองทางสังคมของคุณบ้างไหม

ชยุต :   เปลี่ยนไปมากเลยครับ ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่าผมไม่เคยเดินทางไปภาคเหนือมาก่อนเลย การใช้ชีวิต วันจันทร์-วันศุกร์ ฝึกงานตามปกติ ส่วนวันเสาร์-วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์พวกเราจะขับรถไปด้วยกันเพื่อหาประสบการณ์ เพื่อศึกษาสำรวจและท่องเที่ยวในชุมชนต่างๆ โดยออกเดินทางกันตั้งแต่เช้ามืดเพื่อรับอากาศในยามเช้า การเดินทางด้วยตนเองทำให้พวกเราได้สัมผัสผู้คนในชุมชนภาคเหนือ สัมผัสวัฒนธรรม สัมผัสวิถีชีวิต สัมผัสกับอาหารการกินที่แปลกใหม่ ซึ่งแต่ละอย่างล้วนต่างจากบ้านเกิดผมอย่างสิ้นเชิง  การได้เรียนรู้จะทำให้เราเข้าใจและสามารถเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมต่างๆ ได้ดีครับ ประสบการณ์ต่างๆ มากมายเหล่านี้สอนให้เรามีกระบวนทัศน์ในการมองสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก

We TSU : ในฐานะศษย์เก่าอยากจะบอกอะไรถึงมหาวิทยาลัยทักษิณ

ชยุต :     ผมจะขอพูดถึงสิ่งที่ผมประทับใจและสัมผัสได้ตั้งแต่เริ่มเข้ามา คือความเป็นครอบครัวเดียวกันที่มีความรักความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในหมู่พี่น้อง มีความกลมเกลียวกันช่วยเหลือซึ่งกันและกันเสมอ ดังจะเห็นภาพได้จากกิจกรรมต่างๆ มากมายของคณะและของมหาวิทยาลัยสิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดการปลูกฝังอยู่ในจิตสำนึกของนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 นอกจากนี้ยังมีความรักความเมตตาจากอาจารย์ในสาขาวิชาที่คอยให้คำแนะนำและปรึกษาในทุกๆเรื่องไม่ว่าในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียน ส่วนเรื่องวิชาการมหาวิทยาลัย มีบริการทางวิชาการที่ทันสมัยและหลากหลายที่นิสิตทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้ และยังมีการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อให้นิสิตของมหาวิทยาลัยทุกชั้นปีได้ลงไปสัมผัสชุมชนและวิถีชีวิต สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นผลดีแก่ตัวนิสิตที่จะได้เรียนรู้และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อเตรียมพร้อมเผชิญในโลกของการทำงานและชีวิตจริง

 

 

 

การเรียนการสอนไม่ใช่แค่การบรรยาย มิติใหม่ของอาจารย์มหาวิทยาลัยทักษิณ

Previous article

ศูนย์เทคโนโลยียางเพื่อชุมชน ม.ทักษิณ กับนวัตกรรมเพิ่มมูลค่ายางพารา

Next article

Comments

Comments are closed.

Login/Sign up