Academic Servicecare

ดำรงค์ ชีวะสาโร ผู้ปลุก “การแทงหยวก” ลุ่มทะเลสาบสงขลาให้ตื่นมามีบทบาทกับชุมชน

0

ตลอด 20 ที่ผ่าน ในวงการศิลปะไทยน้อยคนนักไม่รู้จัก “ดำรงค์  ชีวะสาโร” ผู้ฟื้นคืนศิลปะไทยโบราณของลุ่มทะเลสาบสงขลาให้ตื่นขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะการแทงหยวกที่เลือนหายไปให้กลับมามีบทบาทกับชุมชนท้องถิ่นในปัจจุบัน และนับได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้บันทึกซ้ำประวัติศาสตร์การสร้างสรรค์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยโบราณให้ดำรงคงอยู่สืบมา และยังเป็นหนึ่งในช่างแทงหยวกจากสงขลาที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ร่วมถวายงานแทงหยวกประดับ “พระจิตกาธาน” พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง ร.9 ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการแทงหยวกชั้นบัวจงกล รัดเอว และงานแทงหยวกชั้นปากฐาน ร่วมกับช่างหลวงของสำนักพระราชวัง 

— ภาพจาก มติชน ออนไลน์ — ช่างแทงหยวกสกุลสงขลาที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประกอบด้วย (จากซ้าย)นายอาวุธ แสงมณี, อาจารย์ดำรงค์ ชีวะสาโร, นายวินิจ จันทร์เจริญ และ สวน หนุดหละ

–ภาพจาก Nation–

อาจกล่าวได้ว่า หลังล่วงผ่านงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ศิลปะการแทงหยวกได้กลับมาเป็นที่รู้จักและกลับมาอยู่ในความสนใจอย่างเป็นปรากฏการณ์อีกครั้งจากที่เงียบเหงาไปแล้วเกือบชั่วอายุคน และวาระสำคัญของชาติในครั้งนี้ อาจารย์ดำรงค์  ชีวะสาโร อาจารย์ประจําคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับคัดเลือกให้ถวายงานแทงหยวกประดับพระจิตกาธานร่วมกับช่างแทงหยวกที่ได้รับการคัดเลือกมาจากทั่วประเทศ

 

 “งานแทงหยวกเป็นศิลปะของชาติที่ทรงคุณค่า เราทุกคนควร สืบสานไว้ให้ดำรงคงอยู่  การฝึกอบรมให้เยาวชนได้เรียนรู้และเพื่อให้พวกเขาได้เป็นผู้สืบทอดการแทงหยวกที่เป็นมรดกของชาติต่อไปนั้นมันทำให้ชีวิตเรามีคุณค่าขึ้น”

อาจารย์ดำรงค์  ชีวะสาโร กล่าว

อาจารย์ดำรงค์  ชีวะสาโร อาจารย์ประจําคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ และแรงงานแห่งรักร่วมกับกลุ่ม “ร่องลายไทย” ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นมาจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มาศึกษาวิชาช่างสิบหมู่ ณ ศูนย์พัฒนาอาชีพ จังหวัดสงขลา (ศูนย์ศรีเกียรติพัฒน์ โดยศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ในขณะนั้น) ที่ได้ขยายโอกาสมาจากวิทยาลัยในวังเพื่อถ่ายทอดศิลปะไทยโบราณแก่กลุ่มเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อทำนุบำรุงภูมิปัญญาศิลปะไทยโบราณแขนงต่าง ๆ หลังจากนั้นไม่นาน กิจกรรมส่งเสริม ฝึกหัด เรียนรู้ศิลปะการแทงหยวกก็แพร่หลาย  ทั้งจากการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน  กล่าวโดยเฉพาะบริเวณรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาที่ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่มีโครงการสืบสานศิลปกรรมท้องถิ่นเพื่อเยาวชน และโครงการรดน้ำขึ้นเบญจาสามสมเด็จเจ้าแห่งลุ่มทะเลสาบ อันมีงานแทงหยวกมาประดับประดาอย่างวิจิตรสวยงาม ติดต่อกันเรื่อยมา ในฐานะเป็นศิลปะพื้นบ้านที่คงค่าคู่ควรรักษาอนุรักษ์ไว้ให้สืบทอดต่อไป

โครงการอบรมเยาวชน

จากนั้นงานแทงหยวกที่เคยเงียบหายไปก็หวนกลับมาอีกครั้งในงานพิธีรดน้ำขึ้นเบญจา งานแห่เรือพระ แห่เทียน งานศพและวาระอื่น ๆ ของชุมชนรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา รวมถึงการออก งานสาธิต และอบรมฝึกฝนเยาวชนเพื่อเป็นการบริการทางวิชาการโดยหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งมั่นตระเวรถ่ายทอดความรู้และฝึกอบรมศิลปะการแทงหยวกของกลุ่มร่องลายไทยโดยมีอาจารย์ดำรงค์ ชีวะสาโรเป็นคนขับเคลื่อน และทุ่มเทให้กับการเผยแพร่ศิลปะการแทงหยวกมาร่วม 20 ปี หรือก่อนปรากฏการณ์การ กลับมาเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

บางส่วนของกลุ่ม “ร่องลายไทย” กับ เบญจา รดน้ำสามสมเด็จแห่งลุ่มทะเลสาบ ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

“เราจะเพาะปลูกศิลปะไทยโบราณเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ให้สืบสานต่อไป”

 

งานบริการสังคม

– สาธิตการแทงหยวกตามหน่วยงานต่าง ๆ

– เป็นวิทยากรฝึกอบรมการแทงหยวก ให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สถาบันทักษิณคดีศึกษา วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

– สอนการแทงหยวกให้แก่กลุ่มผู้สนใจในวันหยุด ได้แก่ กลุ่มเยาวชนร่องลายไทย กลุ่มชาวบ้านวัดดอกสร้อยเพื่อใช้สำหรับการจัดทำเรือพระ

– บริการแทงหยวกประดับตกแต่ง ทั้งเบญจา เมรุชั่วคราว เรือพระ กระทง ตามความต้องการของชุมชนในจังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และ นครศรีธรรมราช เป็นต้น

 

การเผยแพร่ผลงานแทงหยวกในระดับชาติและนานาชาติ

– ร่วมกับกลุ่มช่างในจังหวัดสงขลาแทงหยวกประดับตกแต่งรถแห่เทียนพรรษา ของภาคใต้ ณ พุทธมณฑล ศาลายา จังหวัดนครปฐม ปี 2549

– สาธิตและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากการแทงหยวกในโครงการสัมมนาเชิง ปฏิบัติการทางทัศนศิลป์และนิทรรศการนานาชาติ ครั้งที่ 10-12 ณ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร

– สาธิตงานแทงหยวก ณ พิพิธภัณฑ์ข้าว รัฐเคดาห์ เนื่องในงานเฉลิมฉลองวันพิพิธ ภันฑ์แห่งชาติของมาเลเซีย ปี 2558

 

เกียรติคุณที่เคยได้รับ

– สาธิตการแทงหยวกถวายต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ณ ริมทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง

– เป็น 1 ในคณะจิตรกรเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ณ พระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง ตามโครงการพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2546

– เป็น 1 ในคณะแทงหยวกจัดทำเครื่อสดประดับจิตกาธานงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

– รางวัลชนะเลิศ การแข่งขันแทงหยวกประดับตกแต่งเบญจา เนื่องในงานวันอนุรักษ์มรดกไทย ของจังหวัดสงขลา ประจำปี 2548

– รางวัลดีเด่น ระดับประชาชน การประกวดศิลปกรรม ป.ต.ท. ครั้งที่ 11 ปี 2539

– รางวัลดีเด่น ระดับประชาชน การประกวดศิลปกรรม “สุขภาพดีถ้วนหน้าด้วยพระบารมี” โดยกระทรวงสาธารณสุข ปี 2540

– รางวัลเกียรติยศ ระดับประชาชน การประกวดศิลปกรรม ป.ต.ท. ครั้งที่ 18 ปี 2546

– ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นคนดีศรีขรรค์ชัย สาขาส่งเสริมอาชีพ ประจำปี 2555 เนื่องในวันขรรค์ชัยรำลึก (สืบเนื่องจากการเผยแพร่และการฝึกอบรมการแทงหยวกให้แก่นักเรียนจนเกิดการรวมกลุ่มในนามกลุ่มเยาวชนร่องลายไทย และได้รับรางวัลกลุ่มเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ สาขาการศึกษาและวิชาการ ประจำปี 2554)

—- ศึกษา เรียนรู้ ศิลปะการแทงหยวกจากผลงานของช่างในอดีต และกลุ่มช่างในปัจจุบัน จากลุ่มทะเลสาบสงขลา เพิ่มเติมที่ ช่างแทงหยวก สกุลช่างจังหวัดสงขลา https://www.facebook.com/groups/419661971472639/

ม.ทักษิณ พัฒนาพลังงานชีวภาพทดแทนไบโอดีเซลและปิโตรเลี่ยม

Previous article

นิสิต ม.ทักษิณ ตัวแทนประเทศไทย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ “โยธวาทิต” ระดับนานาชาติ ณ ประเทศญี่ปุ่น

Next article

You may also like

Comments

Comments are closed.