care

“ค้อน หิน ดิน ทราย” ประวัติศาสตร์บอกเล่าก่อนเป็น ม.ทักษิณ จาก “สดใส” สดใส ขันติวรพงศ์

0

— ความเป็นน้องพี่ที่แตกหน่อจากกอเดียวกันได้เชื่อมโยงชาว วค. (วิทยาลัยครูสงขลา) กับชาว วศ (วิทยาลัยวิชาการศึกษา  สงขลา) มศว (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) มาจนถึงทุกวันนี้ แม้เมื่อทั้งสองสถาบันได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย  นักศึกษารุ่นใหม่ ๆ ที่อาจแปลกใจ ทำไมถังประปาที่ตีนเขารูปช้างเขียนว่าวิทยาลัยครูสงขลา จะได้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของสถานศึกษา ณ เชิงเขารูปช้าง เมื่อก่อนเราอยู่บ้านเดียวกัน แล้วต่างเติบโตไปตามวิถีของตน —

ฉันมารับราชการที่วิทยาลัยครูสงขลาเมื่อปี 2515 ได้พบอาจารย์รุ่นพี่นิสิตวิชาเอกภาษาอังกฤษรุ่นแรกของ วศ สงขลา(วิทยาลัยการศึกษา-สงขลา วางศิลาฤกษ์เมื่อ 1 ตุลาคม 2511) อาจารย์อรุณี เหลืองอ่อน อาจารย์ยุทธนา พูนทอง และอาจารย์นิตยา คนบุญ  ได้เป็นเพื่อนกับอาจารย์สอนภาษาไทย ซึ่งเป็นนิสิตรุ่น 2 และ 3 ของ วศ อาจารย์เอื้อนจิตร จั่นจตุรพันธุ์  อาจารย์นิตยา ธัญพาณิชย์ และอาจารย์สาคร บุญเลิศ  ได้พบและรู้จักอาจารย์หลายท่านผู้ร่วมบุกเบิกก่อตั้ง วศ นับแต่ อาจารย์สมบุญ ศรียาภัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยครูสงขลาในเวลานั้น

ซึ่งต่อมาอาจารย์ผู้ใกล้ชิดอาจารย์สมบุญได้เล่าให้ฟังว่า ตอนที่ท่านอาจารย์สมพร บัวทอง รองอธิการ วศ ท่านแรกมาบุกเบิกก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ ท่านได้ปรารภกับอาจารย์สมบุญว่าพี่ต้องช่วยผม ถ้าพี่ไม่ช่วย ผมทำไม่ได้”

จึงไม่น่าแปลกใจที่ครูอาจารย์จากวิทยาลัยครูสงขลา ได้มีส่วนอย่างสำคัญในการวางรากฐานเริ่มแรกให้แก่ วศ ซึ่งขณะนั้นยังสังกัดกรมการฝึกหัดครู ก่อนจะแยกตัวมาสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และกระทรวงศึกษาธิการในเวลาต่อมา

อาจารย์กลิ่น  รสิตานนท์ ผู้ดำเนินการก่อสร้างและวางศิลาฤกษ์  ได้คัดเลือกอาจารย์ผู้มีมงคลนาม อัญเชิญวัสดุอุปกรณ์ในการลงเสาหลักเพื่อเป็นสิริมงคลแก่สถาบันการศึกษาใหม่แห่งนี้

อาจารย์อำนาจ แก้วกังวาน เป็นผู้อัญเชิญค้อน  และตอกเสาเสียงดังสนั่นหวั่นไหว สัญลักษณ์ของอำนาจกังวานไกล  อาจารย์คนึงสุข เวชกร อัญเชิญหิน ศิลาแห่งความสุข  อาจารย์นงนุช กุลบุญ อัญเชิญดิน ดินแห่งการงอกงาม  อาจารย์สุธีรา ศรีทอง อัญเชิญทราย  ทรายของนักปราชญ์ผู้หว่านโปรยปัญญาความรู้ไปไกล สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์งดงามนี้ ยังอยู่ในความทรงจำของอาจารย์หลายท่าน ซึ่งฉันได้พบปะและพูดคุยด้วย

อาจารย์รุ่นแรก ๆ จากวิทยาลัยครูสงขลาที่มารดน้ำพรวนดินปาริชาตต้นใหม่ เท่าที่ฉันรู้จัก

อาจารย์วไล ศิลปกรรมพิเศษ สอนภาษาอังกฤษให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี วิชาเอกสาขาแรกที่เปิดสอน  อาจารย์วรรณี รัตรสาร สอนวิชาการแนะแนว  อาจารย์สุนิสภ์ เมืองวงศ์ สอนวิชาเคมี  อาจารย์อุบล จิตต์ธรรม ฝ่ายโภชนาการ  อาจารย์สามท่านนี้เป็นอาจารย์ผู้ดูแลหอพักพร้อมกันไปด้วย

อาจารย์มณี สกนธวุฒิ และอาจารย์ชัชชัย อุตปะละ มาช่วยในฐานะเจ้าหน้าที่การเงิน
อาจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์  อาจารย์กฤตวิทย์ ดวงสร้อยทอง และอาจารย์แพทอง สุวรรณรัตน์  อาจารย์สามท่านหลังนี้เป็นบุคลากรของวิทยาลัยครูสงขลา ก่อนที่จะโอนมาสังกัดวิทยาลัยวิชาการศึกษา

อาจารย์สดใส ขันติวรพงศ์ นักแปลและนักประวัติศาสตร์ ผู้ได้รับฉายา “ลูกสาวเฮสเส”

ที่เกริ่นกล่าวมานี้ เพื่อเตือนความจำถึงวันแรกๆ ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่ขยายตัวอย่างกว้างไกล ข้ามจากวิทยาเขตสงขลาถึงวิทยาเขตพัทลุง จากเขารูปช้าง ถึงพนางตุง และป่าพะยอม

ความเป็นน้องพี่ที่แตกหน่อจากกอเดียวกันได้เชื่อมโยงชาว วค. (วิทยาลัยครูสงขลา) กับชาว วศ (วิทยาลัยวิชาการศึกษา) มศว (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) มาจนถึงทุกวันนี้ แม้เมื่อทั้งสองสถาบันได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย  นักศึกษารุ่นใหม่ ๆ ที่อาจแปลกใจ
ทำไมถังประปาที่ตีนเขารูปช้างเขียนว่าวิทยาลัยครูสงขลา จะได้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของสถานศึกษา ณ เชิงเขารูปช้าง เมื่อก่อนเราอยู่บ้านเดียวกัน แล้วต่างเติบโตไปตามวิถีของตน

ในฐานะพยานบุคคลที่ได้รับรู้เรื่องราวเมื่อแรกก่อตั้ง และได้มีส่วนรับใช้มหาวิทยาลัยทักษิณในฐานะวิทยากรและอาจารย์พิเศษอยู่บ้าง จึงขอบันทึกขั้นตอนเล็กๆที่สำคัญยิ่ง
ซึ่งเป็นอิฐก้อนแรกๆที่เป็นรากฐานมหาวิทยาลัยไว้ในโอกาสย่างเข้าวัยห้าสิบปี ที่พัฒนาก้าวหน้าจนบรรลุวุฒิภาวะอย่างเต็มที่ในปี พ.ศ.นี้

ค้อน หิน ดิน ทราย กลายเป็นอาคารมั่นคงอย่างสมควร ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกท่านจะภาคภูมิใจได้อย่างแท้จริง

จากหนังสือรวมบทกวี POETS U เหมือนจะลืมใครไว้ข้างหน้า 

ม.ทักษิณ รวมทีม ศึกษานักเรียนไทยสมองไหลย้ายถิ่นเรียนและทำงานต่อในมาเลเซีย

Previous article

รัฐประศาสนศาสตร์ ม.ทักษิณ สานฝัน “ขจรศักดิ์ ณ นรินทร์” เป็นปลัดอำเภอรุ่นใหม่ไฟแรง

Next article

You may also like

Comments

Comments are closed.

More in care