EducationRESEARCH

ม.ทักษิณ รวมทีม ศึกษานักเรียนไทยสมองไหลย้ายถิ่นเรียนและทำงานต่อในมาเลเซีย

0

— ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยไทยต่างขับเคลื่อนและขยายตัวแข่งขันจัดการศึกษากันมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อรองรับนักศึกษาใหม่ผลิตบัณฑิตป้อนสู่ตลาดแรงงานตามระบบกลไกเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตามแม้การจัดการศึกษาภายในประเทศจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีอัตราการเพิ่มขึ้นของนักเรียนที่เลือกการย้ายถิ่นออกไปศึกษาต่อยังต่างประเทศซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ ดังที่ปัจจุบันปัญหา “สมองไหล” กำลังสร้างความกังวลเรื่องคุณภาพการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ —

มหาวิทยาลัยทักษิณ เล็งเห็นปัญหานักเรียนไทยไหลออกจากระบบการศึกษาไทยออกไปศึกษาต่อในต่างประเทศ จึงสนับสนุนทุนการวิจัยงบประมาณเงินแผ่นดิน ประจำปี พ.ศ. 2559 โครงการวิจัย “การย้ายถิ่นเพื่อศึกษาต่อในประเทศมาเลเซียของนักศึกษาไทย ( Educational Migration of Thai Students to Malaysia)” เพื่อศึกษาปัจจัยและกระบวนการการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อ การปรับตัว และการวางแผนทางเลือกภายหลังสำเร็จการศึกษาในประเทศมาเลเซีย  โดยมีคณะผู้วิจัยประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิสากร  กล้าณรงค์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ จันทร์อานุภาพ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศุภรัตน์ พิณสุวรรณ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์มูฮำหมัด สาแลบิง, อาจารย์ชีวนันท์ คุณพิทักษ์ และ นางสาวสมสมัย เอียดคง

คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณลงพื้นที่ ณ ประเทศมาเลเซีย

โครงการวิจัย การย้ายถิ่นเพื่อศึกษาต่อในประเทศมาเลเซียของนักศึกษาไทย ( Educational Migration of Thai Students to Malaysia) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยและกระบวนการการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อในประเทศมาเลเซีย  การปรับตัวของนักศึกษาไทยขณะศึกษาในประเทศมาเลเซีย  การวางแผนทางเลือกภายหลังสำเร็จการศึกษาในประเทศมาเลเซีย  การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ประมวลผลและวิเคราะห์ผลทางสถิติ กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนไทยที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยในประเทศมาเลเซีย จำนวน 258 คน

การเลือกศึกษาต่อในประเทศมาเลเซียมีปัจจัยดึงดูดที่สำคัญได้แก่ โอกาสการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ  ปัจจัยผลักที่สำคัญคือค่านิยมในสังคมไทยที่ให้คุณค่าการศึกษาต่อต่างประเทศ และสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้เป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญ รวมถึงสามารถติดต่อและเดินทางกลับบ้านได้สะดวก  และมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินขณะศึกษาต่ออยู่ ณ ประเทศมาเลเซีย

คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณลงพื้นที่ ณ ประเทศมาเลเซีย

กระบวนการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อในประเทศมาเลเซีย กลุ่มตัวอย่างตัดสินใจด้วยตนเอง หาข้อมูลเกี่ยวกับสาขาวิชาเรียนและการสมัครเรียนด้วยตนเอง โดยครอบครัวมีส่วนในการตัดสินใจและแนะนำเกี่ยวกับสาขาวิชาเรียน การสมัครเรียน และช่วยในการเตรียมตัวเดินทางไปใช้ชีวิตในต่างแดนด้วย

นักศึกษาไทยต้องปรับตัวทางสังคม การปรับตัวเรื่องอาหารไม่ถูกปาก และความลำบากในการฟังสำเนียงท้องถิ่นและคำแสลง   ขณะศึกษาในประเทศมาเลเซียนักศึกษาไทยส่วนใหญ่เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านในประเทศไทยประมาณ 1 ครั้งต่อเดือน  นักศึกษายังคงติดต่อสัมพันธ์กับบ้านเกิดกับบิดามารดา และเพื่อน ซึ่งยังคงอาศัยอยู่ในประเทศไทย  การเดินทางไปกลับระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียอย่างสม่ำเสมอมีผลต่อการปรับตัวของนักศึกษาไทยในต่างแดนเช่นกัน   สำหรับการปรับตัวทางวิชาการนักศึกษาไทยมีความรู้สึกมั่นใจในความรู้ที่ได้รับ มีวินัย ความเพียรพยายาม และรับผิดชอบต่อการเรียน

นักวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณลงพื้นที่ ณ ประเทศมาเลเซีย

การวางแผนทางเลือกภายหลังสำเร็จการศึกษาในประเทศมาเลเซีย ส่วนใหญ่วางแผนกลับประเทศไทย เพราะต้องการอยู่ใกล้บ้าน และต้องการนำความรู้ไปพัฒนาบ้านเกิดและชุมชนตนเอง บางส่วนวางแผนพำนักต่อในประเทศมาเลเซีย เพราะสามารถมีชีวิตที่อิสระมากกว่า ระดับเงินเดือนสูงกว่า และต้องการเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานในประเทศมาเลเซียระยะหนึ่งก่อนที่จะกลับประเทศไทย และวางแผนเดินทางไปยังประเทศที่สามโดยเฉพาะประเทศมุสลิมในโลกอาหรับ

คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณกับนักศึกษาไทยในประเทศมาเลเซีย

ทั้งนี้การแก้ไขปัญหานักเรียนไทยไหลออกจากระบบการศึกษาไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศนั้น ควรเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เพื่อลดความสำคัญของปัจจัยดึงดูด ยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย เพื่อจูงใจให้นักเรียนไทยเลือกศึกษาต่อภายในประเทศมากกว่าศึกษาต่อต่างประเทศ ควรประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยให้เข้าถึงผู้ปกครองของนักเรียนด้วย เนื่องจากผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อต่างประเทศของนักเรียน และที่สำคัญ หน่วยงานราชการและสถานประกอบการภายในประเทศ ควรพัฒนามาตรการดึงดูดหรือจูงใจให้บัณฑิตทั้งที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศและในประเทศเลือกทำงานในประเทศ เช่น การยกระดับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและสวัสดิการอื่นๆ การเพิ่มโอกาสการพัฒนาตนเอง การพัฒนาสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ตลอดจนการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรที่ให้อิสระทางความคิดและส่งเสริมการมีส่วนร่วม เป็นต้น

ขอบคุณคลิปบางส่วนจาก เส้นทางฝันในต่างแดน : ภูมิภาค 3.0 (18 พ.ย.61) ทาง ThaiTPBS สามารถชมคลิปรายการฉบับสมบูรณ์ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=9Mg5TYwiBs

กลุ่ม “Write Style” ม.ทักษิณ สุมหัว อ่าน-เขียน เพิ่มบรรทัดชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

Previous article

“ค้อน หิน ดิน ทราย” ประวัติศาสตร์บอกเล่าก่อนเป็น ม.ทักษิณ จาก “สดใส” สดใส ขันติวรพงศ์

Next article

You may also like

Comments

Comments are closed.

More in Education