Life

14 มกราคม “วันศาสตราจารย์สุธิวงศ์” ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ คือใคร?

0

— ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ คือใคร ? —

— ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ เป็นปูชนียบุคคลด้านการใช้ภาษาไทย เป็น “เมธีวิจัยอาวุโส” เป็นศาสตราจารย์ ระดับ 11 (ระดับสูงสุดของข้าราชการไทย) เป็นข้าราชการระดับ 11 คนแรกของประเทศไทย ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ “บ้านนอก” (คือต่างจังหวัด) โดยตลอด เป็นผู้สถาปนา (คิดและต่อสู้จนจัดตั้งสำเร็จ) สถาบันทักษิณคดีศึกษา ที่เกาะยอ จังหวัดสงขลา อันเป็นสถาบันทางวัฒนธรรม “ครบวงจร” แห่งแรกของประเทศไทย คือทำหน้าที่ทั้ง รวบรวมข้อมูล ศึกษาค้นคว้า-วิจัย ส่งเสริมเผยแพร่ จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ (Folklore Museum) และผลิตบุคลากรทางวิชาการด้านวัฒนธรรมในระดับต่ำและสูงกว่าปริญญาตรี(ประกาศนียบัตร/มหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต) เป็นต้นแบบในการคิด และจัดทำ “สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้” จนสำเร็จเป็นสารานุกรมวัฒนธรรมชุดแรกของประเทศไทย และเอเซียอาคเนย์ อันเป็นผลให้ธนาคารไทยพาณิชย์สนับสนุนการจัดทำ “สารานุกรมวัฒนธรรมไทย” ภาคต่างๆขึ้นตามมา โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษา

กล่าวโดยชาติภูมิ และประวัติส่วนบุคคล ท่านผู้เรียกตนเองว่าเป็นผู้ “ปรนนิบัติราชการ” ท่านนี้นับเป็น “ปัญญาชนชาวบ้าน” ร่วมสมัยที่สำคัญที่สุด และประสบความสำเร็จในชีวิตสูงสุดคนหนึ่งที่ควรได้รับการยกย่องขึ้น ตราไว้เป็นแบบอย่าง

ท่านเกิดเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2478 ที่บ้านปากบางตะเครียะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นบุตรนางเพ็ง-นายเส้ง พงศ์ไพบูลย์ มีอาชีพทำนา ได้รับการศึกษาระดับประถม และมัธยมต้นจากโรงเรียนในพื้นที่บ้านเกิด คือโรงเรียนประชาบาล “เลื่อนประชาคาร” และโรงเรียนระโนดวิทยามูลนิธิ ตามลำดับ แล้วสอบชิงทุนฝึกหัดครูประถม(ป.ป.) ของจังหวัดสงขลาซึ่งรับเพียง 1 คนไปเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยารุ่นเดียวกับ อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ที่ได้รับทุนจากจังหวัดพัทลุง สมัครสอบเทียบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย(ม.8) แผนกวิทยายาศาสตร์ได้ เมื่อจบชั้นป.ป.ได้รับคัดเลือกให้ไปเรียนต่อที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จึงเลือกเรียนต่อระดับครูมัธยม(ป.ม.)ที่โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมวังจันทรเกษม(ได้รับทุนเล่าเรียน) แล้วสอบเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตรในสาขามัธยมศึกษา วิชาเอกคณิตศาสตร์และภาษาไทย จนสำเร็จการศึกษาในพ.ศ.2503 สอบบรรจุเข้าเป็นอาจารย์ประจำกรมการฝึกหัดครูแล้วย้ายมาเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยครูสงขลาบ้านเกิดในปีเดียวกัน ศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรขั้นสูงวิชาเฉพาะภาษา และวรรณคดีไทยที่ประสานมิตรแล้วกลับไปรับราชการต่อที่วิทยาลัยครูสงขลา จากนั้นจึงโอนไปเป็นอาจารย์โทที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา(คือมหาวิทยาลัยทักษิณปัจจุบัน)

ในช่วงการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย มศว สงขลา(วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลาเก่า)
ได้จัดตั้งโครงการ “ศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้” ขึ้น ต่อสู้จนสามารถได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “สถาบันทักษิณคดี”ซึ่งมีฐานะเป็น “คณะวิชา” หนึ่งในโครงสร้างของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (แต่มีที่ตั้งอยู่ที่มศว สงขลา) ขณะนั้นในปี 2523 แล้วบทบาทของสถาบันทักษิณฯภายใต้การนำของผู้อำนวยการคนแรกคือศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ก็เริ่มระบือลือกระฉ่อนหอมฟุ้งด้วยผลงานที่เป็นรูปธรรมด้านวิชาการแต่นั้นมา

ตลอดชีวิตราชการในฐานะ “ครู” และผู้บริหารที่ทำงานอย่างสร้างสรรค์ เห็นการณ์ไกล เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ทำให้ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ มีศิษย์ และผลงานทั้งด้านวิชาการ และด้านสังคมเป็นจำนวนมาก งานหนังสือเล่มสำคัญๆซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เช่น ของดีปักษ์ใต้(2500) หลักภาษาไทย(2505) วรรณคดีและวรรณกรรมปัจจุบัน(2506) คติชาวบ้านภาคใต้(2507) การเขียน(2522) บาลีสันสกฤตที่สัมพันธ์กับภาษาไทย(2523) 108 อบายอันตรายชาติ(2523) พุทธศาสตร์(2523) พุทธศาสนาแถบลุ่มทะเลสาปสงขลาฝั่งตะวันออกสมัยกรุงศรีอยุธยา(2523)วรรณคดีวิเคราะห์(2525)หนังตะลุง(2527) สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้(10 เล่มชุด 2529) พจนานุกรมภาษาถิ่นใต้(2514,2530) วัฒนธรรมพื้นบ้านฯ(2535)คราบน้ำตาบนทางชีวิตและงานฯ(2539) เป็นต้น

นอกจากงานสอนหนังสือ ทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก ทั้งสาขาภาษาไทยและไทยคดีศึกษา งานบริหาร งานควบคุมปริญานิพนธ์ งานกรรมการวิทยากร(ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น) งานเขียนบทความ งานแต่งตำราวิชาการ แล้ว ภายหลังอาจารย์สุธิวงศ์ในฐานะเมธีวิจัยอาวุโส สกว.ได้ทุ่มเทชีวิตให้กับงานวิจัยอย่างสุดจิตสุดใจ จนสามารถสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ทั้งระดับต้น-กลาง และสูงได้เป็นจำนวนมาก มีผลงานวิจัย(ที่จับต้องได้และส่งผลในทางปฏิบัติ)จำนวนมากจนเป็นที่ประจักษ์

“ปราชญ์สามัญชน” ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ผู้สถาปนาสถาบันทักษิณคดีศึกษาและผู้จุดคบเพลิงแห่งงานวิชาการวัฒนธรรมให้รุ่งโรจน์ เสียชีวิตอย่างสงบณโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2560 ท่ามกลางความอาลัยของภรรยา-ลูก-หลาน และญาติมิตร พระราชทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติ ณ วัดแหลมทราย อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2560


–สถาพร ศรีสัจจัง–
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2548
เผยแพร่ครั้งแรก : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

มหาวิทยาลัยทักษิณ “ผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” เรียนจบบรรจุเป็นข้าราชการครู

Previous article

วีรวรรณ บินละหลี “ร่างเล็กหัวใจไม่เล็ก” ม.ทักษิณ สานฝันเป็นนักกฎหมายเพื่อสังคม

Next article

Comments

Comments are closed.

Login/Sign up