LifeStyle

กลุ่ม “Write Style” ม.ทักษิณ สุมหัว อ่าน-เขียน เพิ่มบรรทัดชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

0

ห้วงเวลาที่โลกหมุนเร็วขึ้น และข้อมูลกล่าวอ้างคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 7 บรรทัดต่อปีอาจไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไป ขณะที่นิยาย Y เต็มแผงและตัวหนังสือในแสงสีฟ้าของสมาร์ทโฟนกระจายไปทุกซอกเมือง นั่นไม่เพียงย้อนแย้ง แต่โลกของการอ่านในวันนี้กำลังหมุนไปอีกทาง   ยุคสมัยจะทิ้งแผ่นกระดาษและหนังสือแบบเดิมไว้ข้างหลังหรือไม่นั้นอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ  วันนี้ We Tsu ได้พบกับหนุ่ม-สาวนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณกลุ่มหนึ่งบนขบวนรถไฟบรรทุกความฝัน พวกเขาและเธอรวมตัวกัน คิด-อ่าน  ศิลปะและวรรณกรรม เพื่อกอบฝันก้าวสู่โลกของการเป็นผู้ใหญ่ เรียกตัวเองว่าเป็น “สัตว์ประหลาด”  ในนามกลุ่ม “Write Style” และการพูดคุยกันในครั้งนี้ เขาและเธอก็ขอคุยกับเราในนามตัวแทนกลุ่ม  —

We Tsu : ทำไมถึงคิดว่าเป็น “สัตว์ประหลาด”

Write Style : เราเป็นเหมือน “สัตว์ประหลาด” มีความรู้สึกที่ว่าเราแตกต่างจากคนอื่น สิ่งที่เราคิดฝันกันมันดูแปลกไปจากคนหมู่มากแต่เรารู้สึกสบายใจ อบอุ่นในความรู้สึก ที่อย่างน้อยเรามีสัตว์ประหลาดอีกหลายตัวนั่นคือ “เพื่อนของเรา” มีความรู้สึกปลอดภัย เวลาไปเจอหนังสือที่อ่านแล้วชอบมาเล่าให้เขาฟังก็ยังมีคนที่ตั้งหน้าตั้งตาฟังเราแบบไม่ต้องฝืน สนุกไปกับเรื่องที่แสนจะธรรมดาของเรา เป็นสัตว์ประหลาดที่อยู่ในมหาวิทยาลัยมีโอกาสได้พูดคุยกันแล้วรู้สึกว่าบทสนทนามันไหลไปเรื่อย ๆ โดยที่เราไม่ต้องกำหนดว่าจะต้องเป็นแบบไหนหรือจบลงอย่างไร

We Tsu : แล้วชื่อ “Write  Style” มาได้อย่างไร

Write Style : ด้วยความที่สมาชิกในกลุ่มของพวกเรามีความเป็นตัวของตัวเองที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน พวกเราจึงตั้งชื่อกลุ่มขึ้นมาว่า “Write  Style” เรายังจำความรู้สึกตอนนั้นได้ดี เด็กมหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งที่ตื่นเต้นกับสิ่งที่พวกเขาอยากทำ ตื่นเต้นกับความฝันอันเล็กนิดเดียวแต่ในความรู้สึกของเรามันคือสนามเด็กเล่นขนาดใหญ่ คิดเพียงแค่ว่ามันต้องสนุกแน่ ๆ ไม่มีแผนสองสามสี่ว่าถ้าล้มลงในสนามนี้จะรับมือยังไง แต่ละคนไม่ได้คิดอะไรกันมากอยู่แล้ว สนุก หัวเราะ เฮฮากันไปวัน ๆ ก็แค่พวกเราชอบอ่านในสิ่งที่มีคนเขียนไว้

We Tsu : “Write  Style” เริ่มมาจากจุดไหน

Write Style : กิจกรรมแรกที่  Write  Style จัดคือให้แต่ละคนนำหนังสือที่ตัวเองชอบหรือสนใจมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง เป็นหนังสือแนวไหนก็ได้ เมื่อจัดกิจกรรมก็ต้องมีผู้เข้าร่วมตอนนั้นก็มีน้อง ๆ ในสาขาที่สนใจมาร่วมพูดคุยกับพวกเรา ด้วยความที่พวกเราเป็นกลุ่มที่เล็กจริง ๆ ก็เลยตกลงว่าจะไปจัดกันที่หอสมุด  จะเรียกว่าจัดกิจกรรมก็ไม่น่าจะใช่แต่เหมือนกับการได้มานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวที่แต่ละคนสนใจกันมากกว่า   น้องบางคนบอกเขาชอบดูโฆษนาของไทยประกันชีวิต บางคนชอบอ่านนิตยสารท่องเที่ยว เราเชื่อว่าการล้อมวงคุยกันที่หอสมุดวันนั้นเป็นจุดเริ่มที่น่าจดจำ

ผ่านกิจกรรมแรกไปก็คิดกันว่าจะทำอย่างไรต่อ  ก็ได้ข้อสรุปว่าจะจัดอ่านเรื่องสั้น “มหาวิทยาลัยชีวิต” ของคุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล รูปแบบก็เหมือนเดิมใครคิดเห็นยังไงก็พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน แต่คราวนั้นเราคิดว่าต้องมีการประชาสัมพันธ์โดยการทำโปสเตอร์ติดตามบริเวณต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ในกลุ่มไม่เคยมีใครเคยทำโปสเตอร์และมีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นกว่าครั้งแรก  มีเพื่อน ๆ จากสาขาประวัติศาสตร์มาร่วมด้วย น้อง ๆ จากสาขาภาษาไทยของเราก็มาร่วมด้วย ทำให้พวกเรามีแรงกระเพื่อมที่จะทำสิ่งนี้ต่อไป

Write Style เป็นแค่กลุ่มเล็ก ๆ เรายังยืนยันตรงนี้ว่าพวกเราคือกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่กำลังทำในสิ่งที่ใครหลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าจะทำให้ได้อะไร ทำให้เหนื่อยไปทำไม เราก็ไม่มีคำพูดสวยหรูว่าทำแล้วมีความสุข แต่มีแค่คำที่ออกมาจากความรู้สึกคือ “เรายังเป็นเด็ก เด็กมักจะมีฝันติดตัวเสมอ” และเด็กอย่างพวกเราก็ทำสิ่งที่ไม่คิดว่าจะทำได้ก็เท่านั้น :Write Style :

We Tsu : “Write  Style” เป็นพื้นที่แบบไหน

Write Style : อย่างที่บอกไปว่าสำหรับเรา “Write  Style” มันคือสนามเด็กเล่นขนาดใหญ่พอได้ลงไปเล่นจริง ๆ มันไม่ได้มีแค่กระดานลื่นที่ไถลตัวลงมาด้วยความตื่นเต้นพร้อมกับเสียงหัวเราะ  แต่บนกระดานลื่นดันมีทรายมีฝุ่นเต็มไปหมดแน่นอนว่าเมื่อไหร่ที่เราได้ตัดสินใจพุ่งตัวให้ไถลลงมา เนื้อตัวเราก็จะเต็มไปด้วยเศษทรายเศษฝุ่น แต่ถึงอย่างไรโดยธรรมชาติของเด็กเวลาพวกเขาได้เข้าไปอยู่ในสนามเด็กเล่น เขามักจะลืมความเจ็บ ตรงหน้าของเขามีแต่ความสนุก พวกเราก็ถือว่ายังเป็นเด็กแต่เป็นเด็กที่กำลังอยู่ในสนามเด็กเล่นของการขึ้นรถไฟ รถไฟขบวนนี้เต็มไปด้วยความฝัน จุดหมายปลายทางไม่รู้ว่าจะลงที่สถานีไหน แต่ไม่เหงาเลยเพราะตอนนี้มี “สัตว์ประหลาด” หลายตัวอยู่ในรถไฟขบวนนี้

We Tsu : คิดว่า “Write  Style” มันจะเดินไปได้อีกไกลแค่ไหน

Write Style : ใช่ว่าการได้ทำในสิ่งที่อยากทำ สิ่งที่ฝันจะผ่านไปแบบง่ายดายไม่มีอะไรติดขัด แต่นี่คือโลกของความเป็นจริง พวกเราได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างจากที่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ แอบจับกลุ่มคุยกันตามหอสมุด ได้ก้าวขึ้นไปอีกก้าวหนึ่ง ด้วยทางคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือทำให้กลุ่มของพวกเรามีสถานที่จัดกิจกรรม ได้รับความสนใจจากอาจารย์ พี่ ๆ นักเขียนหลาย ๆ คน และการสนับสนุนจากเพื่อน ๆ หลายสาขาวิชาในมหาวิทยาลัย  เพื่อน ๆ กลุ่มนี้ได้ส่งมอบกำลังใจ เอาใจช่วยพวกเราด้วยพลังใจทั้งหมดที่เขามี  และน้อง ๆ หลายสาขาที่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรม    กลุ่ม Write  Style เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่แสนจะธรรมดา

We Tsu : กิจกรรมที่ผ่านมาเป็นอย่างไรกันบ้าง

Write Style : ระยะเวลาที่ผ่านมาก็มีกิจกรรมหลากหลายตามวาระโอกาส

  1. ซีไรต์ Write Style : พวกเราตกลงกันเลือกหนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์เรื่อง “เจ้าหงิญ”  ของคุณบินหลา สันกาลาคีรี เป็นตัวเชื่อมโยงการร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน
  1. หนังสือในดวงใจ : กิจกรรมนี้ตกลงกันว่าอยากได้บรรยากาศที่ผ่อนคลาย ผู้เข้าร่วมไม่ต้องคิดอะไรให้ยากเลยโดยการให้แต่ละคนนำหนังสือที่เปรียบเสมือนหนังสือในดวงใจ จะเป็นการ์ตูน อาหาร ท่องเที่ยว ฯลฯ ได้หมดเลยมาคุยให้ฟังว่าทำไมถึงเป็นหนังสือในดวงใจ
  1. จากหนังสือสู่ภาพยนตร์ : เป็นกิจกรรมที่ได้รับการตอบรับเกินคาด รูปแบบคือนำหนังสือเรื่อง“กล่องไปรษณีย์สีแดง” ที่ได้สร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “เพื่อนสนิท” มาดูหนังด้วยกันและแลกเปลี่ยนมุมมองของแต่ละคน
  1. จุดประกายฝัน การอ่าน-การเขียน : กิจกรรมนี้ได้เชิญคุณตาวัน วิเศษสินธุ์ เจ้าของห้องสมุดสองเล และคุณวิสุทธิ์ ขาวเนียม กวีที่มีชื่อเสียงในภาคใต้ มาร่วมพูดคุยและแบ่งปันแรงบันดาลใจในการเริ่มต้น  อ่าน-เขียน
  1. อ่านเรื่องสั้นกับบริบทสังคม “ความรัก” : กิจกรรมนี้จัดขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อให้เข้ากับวันแห่งความรัก พวกเราจึงลงความเห็นกันเลือกหนังสือเรื่อง “ร้านหนังสือแมวฮกเกี้ยน” มาเป็นประเด็นในการพูดคุยกัน
  1. อ่านนวนิยาย กับ วิถีทางความคิด : พูดคุยถกประเด็นในหนังสือเรื่อง “สะใภ้คนจีน” โดยเชิญเจ้าของหนังสือคุณจเด็จ กำจรเดช มาร่วมในวงสนทนาด้วย
  1. pk @ ฮาร์เบอร์ : นี่เป็นกิจกรรมสุดท้ายของเทอมที่แล้วพวกเราปรึกษากันว่ากิจกรรมสุดท้ายอยากได้ฟีลเหมือนพบปะสังสรรค์ในหมู่เพื่อนฝูง จึงคิดว่าถ้าพวกเรามาดูหนังด้วยกันน่าจะเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ ที่อบอุ่นดี เลยตกลงเลือกหนังเรื่อง “pk ผู้ชายปาฏิหาริย์” ต้องขอบคุณพี่กั้งในการเอื้อเฟื้อสถานที่จัดกิจกรรมครั้งนั้น


We Tsu :
 ทำ “Write  Style” กันแบบนี้น่าสนุกนะ แล้วคิดว่าได้อะไรกันไหม

Write Style : พวกเราได้เรียนรู้อะไรมากมาย แต่ละกิจกรรมกว่าจะออกมาเป็นที่น่าพอใจ  ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย คนเราเวลาทำอะไรความคาดหวังคือตัวแปรสำคัญ จะบอกว่าทุกครั้งพวกเราหวังว่าจะมีพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ มาร่วมสนุกกับพวกเรา และแน่นอนความหวังมักจะมาพร้อมความผิดหวังมากกว่าความสมหวังเสมอ   พวกเราคุยกันตลอดว่าจะมีกี่คนพวกเราก็จะทำต่อไป มีผู้เข้าร่วมสองคนก็จะจัดตามแผนที่ได้วางไว้  ถึงขั้นคิดว่าถ้าไม่มีใครเข้าร่วมเลยละพวกเราจะทำยังไง  แล้วก็ทำให้เรานึกย้อนกลับไปตอนที่จุดเริ่มต้นของ “Write  Style” มาถึงตอนนี้พวกเรามาไกลเกินกว่าที่ฝันไว้มาก   เราได้รับ “มิตรภาพ” จากต่างเพื่อนพ้องคณะต่าง ๆ พวกเขาเหล่านั้นทำให้พวกเรามีกำลังใจ

We Tsu : “Write  Style” อยู่ในกระแสมั๊ย?

Write Style : เวลาเดินสวนกันในมหาวิทยาลัย มีคนทักและถามตลอดว่า “พวก “Write  Style” จะจัดกิจกรรมอีกเมื่อไหร่?”  “จะมีกิจกรรมอะไรอีกบ้าง?” อาจจะดูเกินความจริงถ้าจะบอกว่าถ้อยคำเหล่านี้ทำให้พวกเราหันหน้ามายิ้มพร้อมกันแต่มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ มันเป็นความรู้สึกที่เหมือนกับเราฟังเพลงที่คนอื่นเขาไม่ฟังกัน แต่อยู่ ๆ มีใครก็ไม่รู้เข้ามาถามว่าฟังเพลงอะไรเหรอ ขอฟังด้วยคนดิจนทำให้เราได้รู้ว่าเพลงที่เราชอบฟังนั้นยังมีคนที่ชอบเหมือนกันแม้จะเป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ ก็ตาม “Write  Style” ตอบแบบนี้ได้ไหม

We Tsu : มาถึงวันนี้คิดว่า ประสบความสำเร็จในการทำกิจกรรมแค่ไหน

Write Style : วันนี้ Writer  Style มีเพื่อน ๆ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาเข้ามาร่วมนั่งรถไฟขบวนนี้ด้วยกัน อีกไม่กี่เดือนพวกเราบางส่วนก็จะเรียนจบกันแล้วไม่น่าเชื่อว่าการเริ่มต้นกันในวันนั้นพวกเราเดินด้วยกันมาหลายก้าว และระหว่างทางเดินได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างบางอย่างก็ไม่คิดว่าจะได้เจอ ทุกอย่างล้วนเป็นบททดสอบให้พวกเราได้ก้าวเดินอีกขั้นนั่นคือ “ขั้นของความเป็นผู้ใหญ่”  ถึงแม้ว่าพวกเราจะมีงานมากแค่ไหนแต่ก็ยังมีกิจกรรมเหมือนเดิม ใครที่ยังไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมกับพวกเราหรือมีเวลาว่างก็มาร่วมกิจกรรมกับพวกเราได้ เทอมนี้พวกเราจะมีกิจกรรม 1. เสวนาวรรณคดีไทย  2. ตัวเองในวงล้อมของตัวตน 3.เขียนพลเมือง และ 4. กิจกรรมสร้างฝันบันดาลใจ  นี่คือกิจกรรมทั้งหมดของเทอมนี้ ก่อนจะก้าวไปสู่โลกของการเป็นผู้ใหญ่

We Tsu : อยากให้พูดอะไรสักอย่างเกี่ยวกับกิจกรรมอันใกล้นี้

Write Style : ก่อนหน้านี้พวกเราคิดกันว่าอยากจะเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงในด้านการพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจเลยตกลงกันว่าอยากจะเชิญพี่โหน่ง วงศ์ทนง  ชัยณรงค์สิงห์ มาเป็นวิทยากรแค่คิดก็สุดจะตื่นเต้น พวกเราก็ได้ติดต่อไป ทีแรกพวกเราคิดว่าคงหวังมากไป สุดท้ายฝันก็สมหวังเมื่อพี่โหน่งตอบรับคำเชิญเพราะเรื่องเล่าชีวิตกิจกรรมพวก “สัตว์ประหลาด” ของพวกเรา

We Tsu : มาถึงวันนี้ “Write  Style” เป็นอย่างไร

Write Style :  ความจริงมันก็เกินฝันอยู่แล้วเพราะ Write Style เป็นแค่กลุ่มเล็ก ๆ เรายังยืนยันตรงนี้ว่าพวกเราคือกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่กำลังทำในสิ่งที่ใครหลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าจะทำให้ได้อะไร ทำให้เหนื่อยไปทำไม เราก็ไม่มีคำพูดสวยหรูว่าทำแล้วมีความสุข แต่มีแค่คำที่ออกมาจากความรู้สึกคือ “เรายังเป็นเด็ก เด็กมักจะมีฝันติดตัวเสมอ” และเด็กอย่างพวกเราก็ทำสิ่งที่ไม่คิดว่าจะทำได้ก็เท่านั้น

แม้บทสนทนาระหว่างเราไม่อาจทำให้โลกหมุนช้าลง แต่ทุกถ้อยคำจากพวกเขา “Write  Style”  พวก “สัตว์ประหลาด” พวกนี้ ก็ไม่ได้ทำให้พวกเรา WE TSU เร่งรีบไปไหน  มันไม่ใช่แค่เรื่องน่าภูมิใจหรือน่าจดจำที่มหาวิทยาลัยทักษิณแห่งมีนิสิตกลุ่มนี้อยู่  แต่มันยังช่วยเราโต้แย้งข้อมูลสถิติที่กล่าวอ้างว่าคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 7 บรรทัดต่อปีด้วย

2 ศิลปิน ม.ทักษิณ โบยบินแสดงงานเทศกาลศิลปะระดับโลก Thailand Biennale KRABI 2018 สุดขอบฟ้าแห่งดินแดนมหัศจรรย์

Previous article

ม.ทักษิณ รวมทีม ศึกษานักเรียนไทยสมองไหลย้ายถิ่นเรียนและทำงานต่อในมาเลเซีย

Next article

Comments

Comments are closed.

Login/Sign up