News

ม.ทักษิณ เจ้าภาพจัดแข่งขันแฮกกะธอนระดับภูมิภาค ระดมความคิด “แนวทางแก้ปัญหาขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” ชิงเงินรางวัลรวม 250,000 บาท

0

มหาวิทยาลัยทักษิณเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแฮกกะธอน(U2T Hackathon) ระดับภูมิภาค (ภาคใต้ตอนล่าง) โจทย์ “แนวทางแก้ปัญหาขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” พัฒนาทักษะการระดมความคิดสร้างสรรค์ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้านนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับบริบทในพื้นที่ ผ่านการเรียนรู้และปฏิบัติจริงในชุมชน แก่ผู้เข้าร่วมโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล ทีมที่ชนะการแข่งขันในระดับภูมิภาค จำนวน 5 ทีม จะได้รับเงินรางวัลเพื่อนำไปพัฒนาตำบลตามแนวทางการแก้ปัญหา ทีมละ 50,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตรและโล่รางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และได้รับสิทธิ์ในการเข้าแข่งขันในแฮกกะธอน ระดับประเทศต่อไป

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 สำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดแถลงข่าวกิจกรรมการแข่งขันแฮกกะธอน(U2T Hackathon) ระดับภูมิภาค (ภาคใต้ตอนล่าง) ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทักษิณได้รับคัดเลือกจาก สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สป.อว) ให้เป็น 1 ใน 8 เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา เพื่อดำเนินการจัดการแข่งขันแฮกกะธอน ระดับภูมิภาค (ภาคใต้ตอนล่าง) สำหรับพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ภายใต้โจทย์การแข่งขันที่ทางสป.อว.ได้กำหนดคือ “แนวทางแก้ปัญหา (Solution) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” โดยมีประเด็นดำเนินการใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) Circular Economy 2) Creative Economy 3) Technology/Health Care และ 4) Art and Culture

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวนธง ครุฑจ้อน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและชุมชนสัมพันธ์ สงขลา กล่าวว่า สำหรับมหาวิทยาลัยที่ดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างและมีสิทธิ์ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ มีจำนวน 12 มหาวิทยาลัย และแต่ละมหาวิทยาลัยมีพื้นที่ตำบลที่ดำเนินงาน ดังนี้ 1) มหาวิทยาลัยทักษิณ 65 ตำบล 2) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 55 ตำบล 3) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย 55 ตำบล 4) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 29 ตำบล 5) มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ 15 ตำบล 6) สถาบันวิทยาลัยชุมชน 15 ตำบล 7) มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา 5 ตำบล มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช 4 ตำบล 9) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ 4 ตำบล 10) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 1 ตำบล 11) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 1 ตำบล และ 12) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ตำบล รวมพื้นที่ดำเนินการทั้งสิ้น จำนวน 250 ตำบล สำหรับกำหนดการรับสมัครจะเริ่มเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 1-20 มิถุนายน 2564 ผ่านระบบออนไลน์ โดยผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการรับสมัครได้ทาง facebook fanpage สำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน โดยมหาวิทยาลัยทักษิณจะประกาศรายชื่อทีมที่ผ่านการคัดเลือกภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เพื่อคัดเลือก 40 ทีม ผ่านเข้าสู่การแข่งขันในระดับภูมิภาค ในระหว่างวันที่ 10-12 กรกฎาคม 2564 ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่สมัครเข้าแข่งขันนั้น อาจารย์ ดร.นิชากรณ์ พันธ์คง รักษาการแทนรองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน กล่าวว่า ผู้สมัครต้องมีการรวมทีม 5-7 คน ประกอบด้วย บัณฑิต นักศึกษาและประชาชน ภายใต้โครงการ U2T กับผู้แทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ ผู้สืบทอดภูมิปัญญา และผู้นำชุมชนในตำบล โดยทีมที่รวมกลุ่มกันอาจมาจากตำบลเดียวกัน หรือต่างตำบล ที่มีลักษณะปัญหาคล้ายกัน หรือเป็นทีมที่มีลักษณะเฉพาะตามบริบท ปัญหา ความต้องการของพื้นที่ หรือ อัตลักษณ์พื้นถิ่น และเลือกปัญหาในการนำมาแข่งขันจากพื้นที่ดำเนินงานของโครงการ ภายใต้โจทย์ “แนวทางแก้ปัญหา (Solution) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก”

          สำหรับทีมที่ชนะการแข่งขันในระดับภูมิภาค จำนวน 5 ทีม จะได้รับเงินรางวัลเพื่อนำไปพัฒนาตำบลตามแนวทางการแก้ปัญหา จำนวน 50,000 บาท/ทีม ประกาศนียบัตรและโล่รางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และได้รับสิทธิ์ในการเข้าแข่งขันในแฮกกะธอน (U2T Hackathon) ระดับประเทศ โดยกิจกรรมการแข่งขันแฮกกะธอน (U2T Hackathon) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมกับเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา 8 สถาบัน กำหนดจัดขึ้น ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะแก่ผู้เข้าร่วมโครงการได้ระดมความคิดอย่างสร้างสรรค์บนปัญหาและความต้องการในพื้นที่จริง เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาด้านนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับบริบทในพื้นที่ ผ่านการเรียนรู้และปฏิบัติจริงในชุมชน (Community-integrated Learning)

ม.ทักษิณ ปล่อยขบวนรถ Mobile Unit ด้วยแคมเปญ“ฉีดกันตะ..ได้มาหนุกกันหลาว” รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วพื้นที่พัทลุงและสงขลา

Previous article

ปิด โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยทักษิณ หลังรักษาผู้ป่วย COVID-19 หายเป็นปกติทุกคน

Next article

You may also like

Comments

Comments are closed.

More in News