News

อว.ส่วนหน้า มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เปิดโรงพยาบาลสนามรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19

0

วันที่ 21 เมษายน 2564 เวลา 14.00น. ณ อาคารทักษิณาคาร มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ได้จัดแถลงข่าวการเปิดโรงพยาบาลสนามในพื้นที่สำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

.
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีนโยบายให้มีหน่วยปฏิบัติการส่วนหน้าของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ส่วนหน้าในทุกจังหวัด โดยในจังหวัดพัทลุง มอบหมายให้มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นกลไกหลักในการสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (อว. ส่วนหน้า) เป็นหน่วยประสาน ขับเคลื่อน และรับประเด็นปัญหาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนของจังหวัด โดยบูรณาการองค์ความรู้ที่หลากหลายของสถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัด นั้น มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งรับผิดชอบ อว.ส่วนหน้า จังหวัดพัทลุง ได้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ งบประมาณกว่า 200 ล้านบาท สามารถทำให้เกิดการจ้างงาน ประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และ นักศึกษา ให้มีงานทำ 1,300 อัตรา และจัดทำโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคมที่ตอบสนองต่อความปัญหาความต้องการของชุมชนอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 สถานการณ์ที่มีแนวโน้มขยายตัวออกไปในวงกว้าง อว.ส่วนหน้า โดยมหาวิทยาลัยทักษิณ จึงได้ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลประจำตำบล ตำรวจ เป็นต้น ได้ร่วมกันจัดโรงพยาบาลสนามแห่งแรกในจังหวัดพัทลุง และแห่งที่ 2 ในภาคใต้ ขนาด 350 เตียง ที่สำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ในฐานะที่เป็น 1 ใน 44 สถาบันการศึกษาในเครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการและบริหารการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ศปก.อว.) สำหรับการการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 ได้เปิดรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ล๊อตแรก จำนวน 5 คน แบ่งเป็น ชาย 3 คน หญิง 2 คน

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ

อาจารย์ ดร.พลกฤษณ์ คล้ายวิตภัทร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและชุมชนสัมพันธ์ พัทลุง

อาจารย์ ดร.พลกฤษณ์ คล้ายวิตภัทร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและชุมชนสัมพันธ์ พัทลุง รักษาการผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เตรียมอาคารสำหรับใช้เป็นที่พักผู้ป่วย จำนวน 3 อาคาร รองรับผู้ป่วยได้ 350 เตียง และอีก 3 อาคารเป็นพื้นที่สำหรับการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ในส่วนของอาคารสำหรับผู้ป่วยนั้น ทางสำนักคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพัทลุงจะเตรียมความพร้อมเรื่องอุปกรณ์และเตียงผู้ป่วยทั้งหมด ทั้งนี้การทำงานจะแบ่งเป็น 3 โซน

โซนที่ 1 อาคารผู้ป่วยติดเชื้อ จะไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าไป และจะมีการติดตั้งกล้อง CCTV ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท TOT จำกัด มหาชน มาดำเนินการติดตั้งให้เรียบร้อย
โซนที่ 2 สำนักงาน ซึ่งจะเป็นพื้นที่ทำงานของบุคลากรทางการแพทย์

โซนที่ 3 รับบริจาคสิ่งของ สถานที่รับฝากของ และของเยี่ยมผู้ป่วย

โดยทั้งหมดจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยทักษิณ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และชุดอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) เข้ามาดูแลในพื้นที่โรงพยาบาลสนามตลอด 24 ชั่วโมง

​โรงพยาบาลสนาม ใช้ชื่อว่า “ศูนย์น้ำใจคนเมืองลุง” เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพลังของความร่วมมือ การร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องประชาชนและภาคีต่างๆ ในการร่วมกันฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน ในโอกาสนี้มหาวิทยาลัยทักษิณ ขอเชิญร่วมบริจาคเงินเพื่อจัดซื้อเจล แอลกอฮอร์สำหรับแจกจ่ายแก่พี่น้องประชาชน และอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับโรงพยาบาลสนาม โดยสามารถร่วมบริจาคผ่านทางบัญชีธนาคารออมสิน ชื่อบัญชี อว.ส่วนหน้าพัทลุงร่วมใจสู้ภัยโควิด 19 เลขที่บัญชี 020362084293 สาขาป่าพะยอม หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง โทร. 074-609600 ต่อ 5106# , 5107#

ทีมวิจัย ม.ทักษิณ คิดค้น “หม้อไอน้ำประสิทธิภาพสูง” ช่วยชุมชนและเกษตรกรลดต้นทุนในการผลิต

Previous article

อาจารย์ ม.ทักษิณ เพาะขยายพันธุ์ปลาก้างพระร่วงสำเร็จ เตรียมถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน สร้างอาชีพส่งออกต่างประเทศ

Next article

You may also like

Comments

Comments are closed.

More in News