— ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงเปลี่ยนเด็กหญิงจากหมู่บ้านห่างไกลในวันนั้น ให้เป็นหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุงในวันนี้ แม้ชีวิตไม่ได้ราบเรียบแต่ทุนการศึกษาจากน้ำพระทัยของเจ้าฟ้านักการศึกษาก็นำพา ณัฐกฤตา ศรีใหม่ สู่ชีวิตที่ดีกว่า และการได้ใช้ความรู้ความสามารถกลับมาพัฒนาบ้านเกิด ก็เป็นสิ่งที่นักเรียนในพระราชานุเคราะห์ทุกคนคิดฝัน และสุขใจกับการได้เป็นตัวแทนในการพัฒนาการศึกษาและท้องถิ่น ตามพระประสงค์ของ “เจ้าฟ้านักการศึกษาของเด็กๆ” ทุกคน —
ดิฉันจำได้เสมอว่าตัวเองเป็นใคร เราเติบโตมาได้ดีทุกวันนี้เพราะใคร และจะตอบแทนที่พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่เด็กหญิงในถิ่นทุรกันดารคนหนึ่งที่เคยห่างไกลการศึกษา จนมายืนอยู่ในทุกวันนี้ได้
ณัฐกฤตา ศรีใหม่ อดีตนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พูดคุยกับเราด้วยความปลื้มปิติ ปัจจุบันเธอเป็นนักวิชาการ หนึ่งกำลังสำคัญหลักของฝ่ายกิจการนิสิตวิทยาเขตพัทลุง ในมหาวิทยาลัยทักษิณที่เธอรัก
เธอเกิดและเติบโตที่บ้านเกาะเต่า อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง วัยประถมศึกษา ที่โรงเรียนตำรวจชายแดนประชารัฐบำรุง 2 บ้านหน้าป่า มัธยมต้นที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พัทลุง มัธยมปลายแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ที่โรงเรียนสตรีพัทลุง ศิลปศาสตรบัณฑิตการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยทักษิณ
แม้ฐานะทางบ้านไม่ได้ดีแต่ความลำบากก็แปรเปลี่ยนเป็นพลังผลักดันให้ตั้งใจเรียนเพื่อจะได้รับทุนเรียนต่อในระดับสูงขึ้น วัยเด็กของเธอไม่เพียงแต่ตั้งใจเรียนหนังสือ แต่เธอยังเป็นนักกิจกรรมที่ผ่านกิจกรรมมาหลากหลายรูปแบบ เคยได้รับการเลือกเป็นรองประธานนักเรียน เป็นตัวแทนแข่งขันทักษะทางวิชาการ และเป็นนักกีฬาของโรงเรียนมาโดยตลอด
พระองค์อยากให้เราตระหนักอยู่เสมอว่าเรา คือ ตัวแทนของพระองค์ท่าน เป็นตัวแทนในการพัฒนาการศึกษา พระองค์สอนให้ทุกคนเป็นคนดีใช้ความรู้ความสามารถที่ได้กลับมาพัฒนาท้องถิ่นของเรา ให้สมกับที่เราได้ชื่อว่า เป็นบัณฑิตคืนถิ่น จงทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และให้ยึดมั่นอยู่บนพื้นฐานของความดี
ณัฐกฤตา ศรีใหม่ เป็นนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ขององค์สมเด็จพระเทพรัตน์ ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 สอบผ่านการคัดเลือกได้เป็นอันดับที่ 2 จาก 30 อันดับของนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ทั่วประเทศ เพื่อศึกษาในระดับปริญญาตรี โครงการบัณฑิตคืนถิ่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และได้รับพระราชทานทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2549
หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเธอมีโอกาสที่จะได้ทำงานกับหลายองค์กร ทั้งในตำแหน่งของผู้ประสานงานโครงการหลวงที่พระราชวังดุสิต สำนักงานโครงการสวนจิตรลดา ตลอดจนตำแหน่งนักพัฒนากรจังหวัดในโควต้าของโครงการบัณฑิตคืนถิ่น แต่ด้วยความตั้งใจอยากกลับมาใช้เวลาตอบแทนพระคุณดูแลแม่ที่บ้านเกิด เธอจึงตัดสินใจเลือกทำงานกับมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง นับจากวันนั้นก็ล่วงผ่านมา 13 ปีแล้ว
โอกาสของการเป็นผู้รับนั้นสะท้อนกลับมาเป็นผู้ให้
แรกเข้าทำงาน ด้วยวัยที่ยังใกล้เคียงกับนิสิต รวมถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการการทำกิจกรรมต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องเมื่อครั้งยังเรียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ทำให้การทำงานกับฝ่ายกิจการนิสิตของเธอในหน้าที่ที่ปรึกษาหอพัก และผู้รับผิดชอบในการจัดทำโครงการต่าง ๆ เป็นความท้าทายที่ไม่เกินความสามารถเลยแม้ไม่เคยผ่านงานลักษณะนี้มาก่อน
ฝ่ายกิจการนิสิต เป็นเสมือนผู้ปกครองของนิสิต ช่วงที่มาใช้ชีวิตเรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยทักษิณ ฝ่ายกิจการนิสิตต้องมีความพร้อมตลอด 24 ชม. ในการแบกรับชีวิต-จิตใจ ความเป็นไป และความปลอดภัยของนิสิต ตลอดระยะเวลา 4 ปี เราต้องดูแลทั้งปัญหาด้านการเรียน ปัญหาชีวิตส่วนตัว เพื่อช่วยน้องนิสิตให้สามรถสำเร็จการศึกษาออกไปเป็นบัณฑิตที่พร้อมสมบูรณ์
อย่างที่ใครๆ ก็เข้าใจ การทำงานกับคนจำนวนมากไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดการให้ประสบความสำเร็จ เพราะคนจำนวนมากต่างก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ทั้งแหล่งที่มา สภาพของครอบครัว ความคิด จิตสำนึก และ ในบางปัญหาที่เกิดขึ้นกับนิสิตก็เป็นปัญหาที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้นิสิตอาจไม่สำเร็จการศึกษาตามระยะเวลาที่กำหนด ถ้าเราไม่ได้ให้ความใส่ใจ แก้ไขอย่างทันท่วงที นั้นอาจจะเกิดความสูญเสียขั้นร้ายแรงของครอบครัวและมหาวิทยาลัยได้ แต่การเรียนรู้และพัฒนาตัวเองมาอย่างต่อเนื่องก็ทำให้ทุกอย่างคลี่คลายได้เสมอมา
ในทุกปัญหาของนิสิตนั้น เป็นความเสี่ยงอย่างสูงสุดที่ผู้ปฏิบัติงานกิจการนิสิต ต้องตระหนัก ต้องมีความรับผิดชอบ มีวินัย ใช้ความอดทน และมุ่งมั่นหาหนทางแก้ไข เป็นตัวกลางระหว่างนิสิตกับครอบครัว เพื่อบริหารจัดการปัญหาที่นิสิตกำลังเผชิญอยู่ ให้ลดระดับความรุนแรงลงมากที่สุด ช่วยประคับประคองไปกระทั่งนิสิตกลับมาด้วยความพร้อมทั้งกาย-ใจ และเรียนต่อได้จนสำเร็จการศึกษา
นอกจากผู้ปฏิบัติงานกิจการนิสิต จะต้องมีความรู้ความสามารถและสั่งสมประสบการณ์แล้ว ยังต้องรักในงาน และการให้คำปรึกษา มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ใฝ่เรียนรู้ เฝ้าสังเกตนิสิตที่อยู่ในความดูแลอยู่เสมอ ความเป็นกันเอง ความรัก ความหวังดีอย่างจริงใจจะทำให้นิสิตวางใจ เชื่อใจ และกล้าเดินเข้ามาขอความช่วยเหลือเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา และแน่นอน ณัฐกฤตา ศรีใหม่ เป็นอย่างนั้น รวมถึง “ระบบงานพัฒนานิสิต” ก็เป็นสิ่งที่สะท้อน ความมั่นใจ ความไว้วางใจ จากผู้ปกครองของนิสิต จึงฝากชีวิตและอนาคตของลูกไว้กับมหาวิทยาลัยแห่งนี้
ในท้ายที่สุด การดูแลนิสิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดีในรั้วมหาวิทยาลัยไม่สามารถทำให้สำเร็จได้เพียงหน่วยงานเดียว แต่ต้องอาศัยกระบวนการหล่อหลอมจากหลายส่วนเพื่อเสริมสร้างนิสิตให้มีคุณลักษณะเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ เพราะ บัณฑิต คือ ผลผลิตที่ภาคภูมิของมหาวิทยาลัยทักษิณ เธอกล่าวอย่างภูมิใจกับภารกิจที่เลือกเพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณ องค์ “เจ้าฟ้านักการศึกษาของเธอ”
เรื่อง : รัชนีกร ชูเชิด
Comments