— ม.ทักษิณ สร้างครูเพื่อสังคม เป็นความท้าทายที่ “กลุ่มครูไทยใจอาสา” ก่อกำเนิดขึ้นท่ามกลางภาวะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในปัจจุบัน “กลุ่มครูไทยใจอาสา” เป็นกลุ่มนิสิตจากมหาวิทยาลัยทักษิณที่มุ่งมั่นคิดหาทางขยายการจัดการศึกษาสู่เด็กๆ ด้อยโอกาสเพื่อแก้ปัญหาเด็กไทยอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพราะเชื่อว่าการให้โอกาสทางการศึกษาไม่ได้จำกัดเพียงแต่เด็กในห้องเรียนหรือในสถานศึกษาเพียงอย่างเดียว หากแต่รวมไปถึงเด็กและเยาวชนที่เคยเดินทางผิดพลาดทางสังคมให้เขาได้รับโอกาสเท่าเทียมด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อได้ร่วมกันเรียนรู้และกลับมุมมองการศึกษา ขยายโอกาสแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ผ่านกิจกรรม “คลินิกภาษาพัฒนาเยาวชน” ในโครงการ “พี่อาสาพาน้องอ่านเขียน”
“ห้องเรียน” ที่ท้าทายไม่ได้หมายถึงห้องเรียนที่ถูกจำกัดในพื้นที่กรอบสี่เหลี่ยม มีกระดานเป็นพื้นที่เรียงเรียงความรู้เท่านั้น แต่ทว่าห้องเรียนที่ท้าทายท่ามกลางศตวรรษที่ 21 นั่นคือ “ห้องเรียน” ที่สร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน
— “คลินิกภาษาพัฒนาเยาวชน” โครงการ “พี่อาสาพาน้องอ่านเขียน” จัดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ทำให้นิสิตได้กลับมุมมองทางการศึกษาอีกมิติหนึ่ง รวมทั้งการให้โอกาสแก่น้อง ๆ ที่กระทำความผิดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เป็นผู้ที่รู้เท่าทัน กล้ายอมรับ และพร้อมปรับปรุงตัวก่อนออกไปสู่อ้อมกอดของสังคม สิ่งหนึ่งที่ “กลุ่มครูไทยใจอาสา” ได้สัมผัสคือ “ห้องเรียน”อีกมิติซึ่งมีนักเรียนที่ประสบปัญหามาอย่างหลากหลายมารวมกัน บางคนไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ บางคนมีปัญหาด้านการอ่าน-เขียนภาษาไทย แต่น้อง ๆ ทุกคนก็พร้อมที่จะเรียนรู้ ปรับตัว ทำให้ “กลุ่มครูไทยใจอาสา” ทุกคนมุ่งมั่น และพยายามศึกษาวิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลายนั้นด้วยการสอนพวกเขาให้อ่านออกเขียนได้เป็นรายบุคคล โดยใช้ระยะเวลาโครงการนี้ 5 เดือน (พฤศจิกายน 2561 – มีนาคม 2562) ซึ่งโครงการจะจบลงในอีกไม่มีวันที่จะมาถึงนี้
“ปัญหาการอ่านเขียนภาษาไทย” ไม่ได้เป็นหน้าที่ของ “ครูภาษาไทย” เท่านั้น หากแต่เป็นหน้าที่ของทุก ๆ คนในชาติที่จะร่วมกันส่งเสริมการอ่านการเขียน รวมทั้งแก้ปัญหาการอ่านการเขียน กลุ่มครูไทยใจอาสา ได้เปิดประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ในมิติที่หลากหลาย โดยเริ่มต้นจากการเป็นผู้รับมาสู่ผู้ให้ด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่ พร้อมทั้งสร้างประสบการณ์วิชาชีพครูแก่นิสิตครูทุกคนภายใต้อัตลักษณ์ “ครูดีที่สอนเก่ง”
เปลี่ยนวันพฤหัสบดีเป็นวันอาสา
— “ก้าวแรกที่พวกเราได้เริ่มต้น” ความท้าทายที่ต้องการให้น้อง ๆ โรงเรียนวัดท้ายยอ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 อ่านออกเขียนได้ พวกเราพยายามเรียนรู้ ศึกษาวิธีการแก้ปัญหาการอ่านการเขียนที่หลากหลาย โดยผ่านกิจกรรมระดมความคิดและวางแผนเพื่อออกแบบกระบวนการแก้ปัญหาตลอดระยะเวลาการลงพื้นที่ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2560 โดยรับสมัครแกนนำจิตอาสาที่พร้อมทั้งกายและหัวใจในการช่วยแก้ปัญหา ประกอบด้วยนิสิตคณะศึกษาศาสตร์วิชาเอกภาษาไทย วิชาเอกคณิตศาสตร์ และวิชาเอกการวัดและประเมินทางการศึกษา ความท้าทายที่สำคัญคือ “ความอดทน” เพราะโครงการพี่อาสาพาน้องอ่านเขียนใช้เวลาว่างในช่วงปิดภาคเรียนเพื่อไปสอนน้อง ๆ ในทุกวันพฤหัสบดี นั่นคือ “การเสียสละ”และ “ความอดทน” เนื่องจากก่อนลงพื้นที่จะต้องมีการประชุมเตรียมความพร้อมก่อนลงพื้นที่เสมอ
— ความสำเร็จจากพี่แกนนำรุ่นที่ 1 ส่งต่อไปสู่ความภาคภูมิใจในรุ่นที่ 2 ที่กลุ่มครูไทยใจอาสา ได้ผสานความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหม ภายใต้โครงการจิตสำนึกรักเมืองไทยปีที่ 10 โดยการจัดกิจกรรมแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 รวมทั้งยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาภาษาไทยแก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และ 6 ณ โรงเรียนวัดมะขามคลาน ตลอดปีการศึกษา 2561 โดยมีนิสิตเป็นแกนนำจิตอาสาหลากหลายมากยิ่งขึ้น ประกอบด้วยนิสิตคณะศึกษาศาสตร์วิชาเอกภาษาไทย คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ชีววิทยา และเคมี
กลุ่มครูไทยใจอาสา เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 โดยกลุ่มนิสิตสาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ รหัส 58 และขยายกลุ่มไปสู่นิสิตสาขาอื่นๆ ที่สนใจมีจิตอาสาเข้ามาร่วมกลุ่ม ซึ่งรวมกลุ่มกันจัดกิจกรรมค่ายส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาในพื้นที่จังหวัดสงขลา จนก่อเกิดเป็นโครงการ “พี่อาสาพาน้องอ่านเขียน” และเริ่มมีบทบาททางสังคมในปี พ.ศ. 2560 โดยกลุ่มนิสิตที่มีจิตอาสา ต้องการสอน เรียนรู้วิถีชีวิตเด็ก ๆ ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ตลอดจนต้องการสร้างประสบการณ์ในการช่วยเหลือเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็ก ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
Comments