care

เตรียมเปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการดนตรีและหอศิลปะการแสดง คาดปี 2562 พร้อมรองรับงานแสดงขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้

0

เตรียมเปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการดนตรีและหอศิลปะการแสดง คาดปี 2562 พร้อมรองรับงานแสดงขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้

          รองศาสตราจารย์ ดร.วิชัย ชำนิ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เปิดเผยความคืบหน้าของการก่อสร้างอาคาร“อาคารศูนย์ปฏิบัติการดนตรีและหอศิลปะการแสดง” คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2562 และจะกลายเป็นศูนย์จัดแสดงมหรสพขนาดใหญ่ของพื้นที่ภาคใต้

มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา ได้รับงบประมาณสนับสนุนในการจัดสร้าง “อาคารศูนย์ปฏิบัติการดนตรีและหอศิลปะการแสดง บนพื้นที่ภายในวิทยาเขตสงขลา ใช้พื้นที่ในการก่อสร้าง 11,700  ตารางเมตร สูง 4 ชั้น จัดสร้างในพื้นที่ติดกับหอประชุมปาริชาต ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของการสัญจรและเป็นศูนย์กลางของมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา  ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 540 ล้านบาท  แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 ใช้งบประมาณก่อสร้าง จำนวน 300 ล้านบาท  ระยะที่ 2  ใช้งบประมาณก่อสร้าง จำนวน 240  ล้านบาท โดยมี กิจการร่วมค้า เค-ไฮ เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง

วัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับการแสดงดนตรีและศิลปะการแสดง ที่สามารถรองรับผู้ชมจำนวนมาก โดยมีแนวคิดในการออกแบบอาคารในรูปแบบร่วมสมัย เป็นการนำเอาชิ้นงานต่าง ๆ มาผสมผสานจนเกิดความลงตัว และความสมดุล เช่น การตกแต่งด้วยรูปแบบคลาสสิก และรูปแบบสมัยใหม่ ให้ความรู้สึกเรียบง่าย สบาย และอบอุ่น เลือกใช้สีโทนกลาง การนำเอางานออกแบบที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันมาผสมอย่างกลมกลืนกับรูปแบบต่าง ๆ ในอดีต

 

อาคารศูนย์ปฏิบัติการดนตรีและหอศิลปะการแสดง

วัตถุประสงค์สำคัญของการออกแบบอาคารศูนย์ปฏิบัติการดนตรีและหอศิลปะการแสดง  มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา  เพื่อการดึงเอาความรู้สึก หรืออารมณ์จากรูปแบบในอดีตมาแต่งกลิ่นไอหรือเพิ่มรสให้กับงานออกแบบนี้  และเป็นการทำให้งานออกแบบมีลักษณะข้ามกาลเวลา  คือให้ความรู้สึกที่สมดุลกันทั้งสองยุค อย่างลงตัวและกลมกลืน  มุ่งเน้นการนำเอาสีประจำสถาบันที่เป็นสีฟ้า และสีเทามาใช้ในการตกแต่งผนัง  รวมถึงส่วนของเก้าอี้ที่นำเอาสีฟ้าและสีเทามาผสมผสานให้เกิดความเป็นตัวตนหรือบ่งบอกถึงความเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ ในรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ได้เป็นอย่างดี  :    สิ่งที่คำนึงในงานออกแบบอาคารศูนย์ปฏิบัติการดนตรีและหอศิลปะการแสดง  คือศูนย์ปฏิบัติการดนตรี  ที่มีการใช้พื้นที่หลากหลายกิจกรรม  เช่นการฝึกปฏิบัติของนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์  การแสดงผลงานศิลปะการแสดง  การประชุมสัมมนา  ฯลฯ ซึ่งออกแบบให้รองรับบริบทเหล่านี้ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรม  แนวคิดที่สร้างให้เกิดแรงบันดาลใจในการออกแบบครั้งนี้คือ การนำเอารูปแบบร่วม สมัยมาผสมผสานกับศิลปะท้องถิ่น   ของภาคใต้  เช่น ภาพวาดจากเรือกอแระ   ลายฉลุหนังตะลุง และลวดลายของกรงนกหัวจุก ที่เป็นลวดลายเฉพาะท้องถิ่นภาคใต้   อย่างลงตัวโดยการปรับลวดลายให้ทันสมัย ผสมผสานกับการจัดจังหวะที่งดงามเดินลวดลายล้อไปตามผนังห้องและนำงานสถาปัตยกรรมพื้นบ้านเช่น  เรือนหลังคาลีลา  เสายอดจั่ว  มาตกแต่งซุ้มประตูทางเข้า เพื่อให้เกิดงานออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น และทรงคุณค่า สร้างแรงจูงใจ  เสริมแรงบันดาลใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เป็นอย่างดี

          ในปี พ.ศ. 2562 คาดการณ์ว่าอาคารหลังนี้จะแล้วเสร็จ และจะกลายเป็นอาคารที่สามารถรองรับการจัดกิจกรรม และมหรสพขนาดใหญ่ของจังหวัดสงขลา  ซึ่งจะมีการเปิดใช้อาคารอย่างเป็นทางการในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมปี พ.ศ. 2562 ต่อไป   

ม.ทักษิณ เร่งถ่ายทอดองค์ความรู้ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ปั้นเกษตรกรสู่การส่งออก

Previous article

ไพฑูรย์ ธัญญา ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เขียนบทกวีถึงมหาวิทยาลัยทักษิณ

Next article

Comments

Comments are closed.

Login/Sign up