EducationRESEARCHScience

นักวิจัย ม.ทักษิณ ศึกษาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ “พืชด่าง” สร้างรายได้ ผู้สนใจตอบความต้องการตลาด

0

อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ศึกษาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชด่าง สามารถนำมาชักนำให้เกิดพืชด่างในพืชหลากหลายชนิด หวังผู้สนใจสร้างรายได้ตามความต้องการของตลาด
ปัจจุบัน พืชด่าง ได้รับความนิยมนำมาใช้เป็นไม้ประดับเพิ่มมากขึ้น แต่อัตราการเกิดพืชต้นด่างในธรรมชาติมีน้อย พบได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังขยายพันธุ์ยาก และโตช้า ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นหลาย ๆ เท่าตัว และหากต้องการขยายพันธุ์พืชด่างให้ได้จำนวนมากอย่างรวดเร็ว  จึงจำเป็นต้องใช้วิธี “การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช”

ตัวอย่างการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขมิ้น                                                                ขมิ้นด่างจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช…เป็นการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ขยายพันธุ์พืชให้ได้จำนวนมาก ๆ เริ่มจากการเลือกส่วนของพืชที่มีชีวิต ที่จะสามารถเจริญ และพัฒนาเป็นพืชต้นใหม่ได้ง่าย เช่น ส่วนยอด ส่วนตาข้าง และเมล็ด เป็นต้น โดยมีการปฏิบัติภายใต้สภาพแวดล้อมที่ควบคุมอุณหภูมิ และแสง ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องความสะอาดแบบปลอดเชื้อ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการปลูกต้นไม้ในขวดแก้ว จากนั้นนำมาเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ ที่มีแร่ธาตุจำเป็นต่อการเจริญเติบโต ไม่ว่าจะเป็นเกลืออนินทรีย์ สารอินทรีย์ วิตามิน กรดอะมิโน สารควบคุมการเจริญเติบโต และน้ำตาล ซึ่งเปรียบเสมือนดินปลูก แต่จะทำให้ได้พืชจำนวนมากกว่าในธรรมชาติ เนื่องจากสามารถควบคุมสภาวะต่าง ๆ ให้เหมาะกับการเจริญของพืช และเมื่อพืชนั้นเจริญเป็นต้นสมบูรณ์ ก็จะสามารถนำมาปรับสภาพ และย้ายปลูกลงดินได้

ตัวอย่างการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชต่าง ๆ

วิธีการนี้นอกจากจะนิยมนำมาใช้ขยายพันธุ์พืชด่าง จากการนำต้นแม่พันธุ์ด่างมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแล้ว ยังสามารถนำมาชักนำให้เกิดพืชด่างในพืชหลากหลายชนิด โดยการฉายรังสี (นิยมใช้รังสีแกมมา เนื่องจากมีพลังงานงานสูง พอที่จะทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในพืชได้) หรือสารเคมีก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ (นิยมใช้สารเอทิลมีเทนซัลโฟเนต (EMS) เนื่องจากสามารถก่อกลายพันธุ์ในระดับยีน) ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้ทำให้เกิดลักษณะกลายพันธุ์ได้มาก เช่น มีลักษณะต้น รูปแบบการด่าง และรูปร่างของใบที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้นจึงนำวิธีการนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับวงการผลิตพืชด่าง เพื่อเป็นไม้ประดับกัน ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนพืชด่างให้ได้มากเพียงพอกับความต้องการของตลาด และยังเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้อีกด้วย

ขั้นตอนสร้างพืชด่าง

 

  • Step 1 : คัดเลือกต้นแม่พันธุ์ที่มีลักษณะที่ต้องการ นำชิ้นส่วนพืชมาผ่านขั้นตอนทำให้ปลอดเชื้อ จากนั้น สามารถใช้รังสี หรือสารเคมี กับชิ้นส่วนที่คัดเลือก เพื่อทำให้เกิดลักษณะกลายพันธุ์ จากนั้นเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์
  • Step 2 : คัดเลือกต้นพืชที่มีลักษณะกลายพันธุ์ต่างไปจากต้นแม่พันธุ์ หรือมีลักษณะที่ต้องการ
  • Step 3 : เพาะเลี้ยงต้นพืชที่มีลักษณะกลายในอาหารสังเคราะห์ที่มีการเติมสารกระตุ้นให้เกิดยอดเพิ่มมากขึ้น
  • Step 4 : นำยอดที่เกิดจาก Step 3 มาเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์สูตรกระตุ้นให้เกิดราก เพื่อให้เกิดต้นสมบูรณ์
  • Step 5: ปรับสภาพต้นสมบูรณ์ก่อนออกปลูกในสภาพธรรมชาติ ประมาณ 1-2 สัปดาห์
  • Step 6: ย้ายปลูกพืชเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในธรรมชาติ

 

ฟิโลเดนดรอน พิงค์ ปรินเซส

 

ตัวอย่างการขยายพันธุ์พืชด่างจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ


  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา แก้วพิบูลย์
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณวงศ์ บุนนาค
  • คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

 

เราจะลดความเสี่ยงจากการช๊อคหมดสติ แบบ คริสเตียน อีริคเซ่น ได้อย่างไร วิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ มีคำตอบ

Previous article

You may also like

Comments

Comments are closed.

More in Education