Education

จักรินทร์  ปริมานนท์ ฝันเป็น “หมออนามัย” เส้นทางนั้น คือ สาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

0

WeTSU : ทำไมถึงเลือกมหาวิทยาลัยทักษิณละครับ

จักรินทร์ : ผมอยากเป็น “หมออนามัย” ผมจึงตัดสินใจเลือกเรียนสาธารณสุขศาสตร์ที่นี่ และที่สำคัญอีกอย่าง ก็เพราะสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีครับ ครอบครัวเราเป็นผู้ประสบภัยสึนามิ เมื่อปี 2547 จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมอบทุนพระราชทานแก่ครอบครัว ผมฝันว่าครั้งหนึ่งในชีวิตหากผมสำเสร็จการศึกษา ผมอยากรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน ผู้ซึ่งมอบโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผม ผมจึงเลือกเรียนสาขาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

WeTSU : ตอนไหนที่คิดว่าอยากเป็น “หมออนามัย”

จักรินทร์ : ผมเคยชินกับการเห็นหมออนามัยทำงานดูแลสุขภาพคนในชุมชน บ้านผมอยู่ไกลจากตัวอำเภอ เวลาป่วยพ่อก็จะพาไปอนามัย ตอนผมเรียนอยู่ ป. 1 ก็ได้ยินอยู่เสมอว่าเดี๋ยวจะมีหมออนามัยมาฉีดยา แม้กระทั่งตอนแม่ผมตั้งครรภ์น้องสาว แม่ก็ต้องไปอนามัยก่อนไปโรงพยาบาล คำว่าหมออนามัยจึงเป็นคำที่ผมได้ยินจนชินหู

ทุกๆ ครั้งที่ครอบครัวเราคุยเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ ก็จะมีคำว่าหมออนามัยร่วมอยู่ด้วยเสมอ มันเป็นแรงบันดาลใจของผมในตอนนั้นว่า หมออนามัยนั้นสำคัญมากขนาดไหน และหากในอนาคตผมได้มาเป็นหมออนามัยเพื่อดูแลสุขภาพของคนมันก็คงจะดี

WeTSU : ในระหว่างเรียนที่ ม.ทักษิณ คุณทำกิจกรรมอะไรบ้าง

จักรินทร์ : ระหว่างเรียน ผมทำงานในองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง  มันเป็นช่วงปี 2554- 2555 เป็นผู้นำเชียร์ให้แก่คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา รวมถึงได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่คณะ และกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยได้จัดขึ้น กิจกรรมต่างๆ เป็นสิ่งที่คอยช่วยให้ผมรู้จักความเสียสละ ความอดทน และการวางแผนในการทำงานได้มากยิ่งขึ้น

WeTSU : ทราบมาว่าคุณเรียนจบระดับปริญญาโทที่ ม.ทักษิณด้วย ลักษณะการเรียนการสอนเป็นอย่างไรบ้าง

จักรินทร์ : ผมจบการศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการระบบสุขภาพ ก่อนอื่นผมต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยทักษิณเป็นอย่างมากที่ให้ทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทตลอดหลักสูตร ซึ่งการเรียนปริญญาโทในมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นการเรียนที่ทำให้นิสิตเรียนรู้และเข้าใจในการพัฒนางาน สามารถใช้องค์ความรู้ผ่านกระบวนการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพมาแก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่ อีกทั้งอาจารย์ผู้สอนเป็นกันเอง คอยให้คำปรึกษาและสนับสนุนองค์ความรู้อยู่ต่อเนื่อง แม้ว่าผมจบการศึกษาไปแล้วแต่ก็ยังสามารถขอรับคำปรึกษาจากอาจารย์ได้เสมอ

WeTSU : สิ่งที่ประทับใจที่สุดในมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง คืออะไร

จักรินทร์ : สิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดในมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง คือ ความเป็นครอบครัว มหาวิทยาลัยทักษิณสอนให้รักและคอยช่วยเหลือมีน้ำใจซึ่งกันและกัน ผมได้รับ
การช่วยเหลือและได้รับการเอาใจใส่จากอาจารย์ รุ่นพี่ และเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน ทุกๆ ครั้งที่ผมพบเจอปัญหา ผมสามารถขอรับคำปรึกษาจากอาจารย์ได้เสมอในทุกๆ เรื่อง และเมื่อได้ออกไปใช้ชีวิต
ในโลกของการทำงาน การได้เจอพี่ๆ เพื่อนๆ หรือน้องๆ ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทักษิณ มันเป็นความผูกพันที่ทำให้ผมรู้สึกอบอุ่น และทำให้รู้สึกได้ว่าเรามาจากครอบครัวเดียวกัน ที่หล่อหลอมโดยอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ที่เปรียบเสมือนผู้ปกครองของเราอีกคนครับ

WeTSU : อยากให้เล่าถึงการทำงานหน่อยครับ งานที่รักของคุณ

จักรินทร์ : ตอนนี้ผมทำงานในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสี่แยก อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเดิมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลก็คือสถานีอนามัยที่เราคุ้นชินกันครับ ความฝันที่ผมตั้งใจไว้ว่าอยากเป็นหมออนามัยในชุมชนที่ตั้งใจไว้ตอนเด็กๆ ก็เป็นจริงแล้ว ผมขอเรียกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ผมทำงานว่าสถานีอนามัยน่ะครับ การทำงานในสถานีอนามัยนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องคิดว่าห้องทำงานของเรานั้นคือชุมชน ทุกๆบ้าน ทุกๆหลังคาเรือนเป็นสิ่งที่เราต้องดูแล เพราะเป้าหมายที่สูงที่สุดของการทำงานคือการทำให้ประชาชนสุขภาพดี มันเป็นความสุขของคนทำงานที่ได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านแล้วเห็นรอยยิ้มของผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านและการสร้างกำลังใจถือเป็นอีกเรื่องที่สำคัญของการดูแลสุขภาพระยะยาว มีครั้งหนึ่งผมได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง มีหนึ่งคำที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำงานได้อย่างมีความสุข คือการได้ยินผู้ป่วยพูดว่า “ยายรอว่าเมื่อไหร่หมอจะมาเยี่ยม ยายคิดถึงหมอ อยากให้หมอลงมาหายายบ่อยๆ แค่นี้ยายก็มีความสุขแล้ว” แม้เป็นประโยคสั้นๆ แต่มันเป็นสิ่งที่เตือนใจเราอยู่เสมอว่าการทำงานในพื้นที่ชุมชน สิ่งหนึ่งที่เราต้องเรียนรู้และเข้าใจคือคำว่า “เสียสละ” แม้ว่าในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขจะทำได้เพียงการบำบัดโรคเบื้องต้น แต่การได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมผู้ป่วย การได้พูดคุย การได้โอบกอดกับผู้ป่วยบางคนก็เป็นการสร้างกำลังใจให้เค้าอยากสู้ชีวิตไปต่อ

WeTSU :  เตรียมความพร้อมอย่างไรก่อนสอบนักวิชาการสาธารณสุข

จักรินทร์ : สำหรับการเตรียมความพร้อมในการลงสนามสอบตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขของผม คือ ผมตั้งเป้าหมายในแต่ละวันว่าผมอยากรู้เรื่องอะไร เพราะตัวผมเองเป็นคนที่ค่อนข้างจะมีสมาธิสั้น อ่านหนังสือได้ไม่นานในแต่ละวัน ผมรู้จุดอ่อนในการอ่านหนังสือของผม ผมเลยต้องวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าผมจะอ่านอะไร อ่านวันไหน โดยในแต่ละวันผมจะบังคับตัวเองว่าต้องอ่านให้ได้ 10 เรื่องเป็นอย่างต่ำ โดย 10 เรื่องนี้ผมจะต้องเข้าใจกับมันอย่างลึกซึ้ง เพราะผมคิดเสมอว่าการทำข้อสอบเพื่อแข่งขันในการเข้ารับราชการ “ไม่ใช่แค่จำได้ แต่ต้องเข้าใจด้วย” ผมเคยเป็นคนที่เคยกลัวข้อสอบตอนเรียนในมหาวิทยาลัย พอออกจากห้องสอบแล้วผมจะทิ้งเนื้อหาไปเลย แต่กลับกันพอผมเข้าสู่โลกในการแข่งขันของการทำข้อสอบในการทำงาน ผมคิดว่าการทำข้อสอบในแต่ละข้อเป็นการประเมินตัวเองว่าเรายังขาดองค์ความรู้เรื่องอะไร เรายังไม่เข้าใจเรื่องอะไร และเราต้องเพิ่มเติมอะไร ผมจึงชอบลองลงสนามสอบแข่งขัน ไม่ว่าในแต่ละครั้งผมจะเตรียมตัวในการอ่านหนังสือดีหรือไม่ดี แต่มันจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผมได้พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ทุกๆครั้งที่ผมออกจากห้องสอบ ผมจะรีบหาคำตอบว่าสิ่งที่ตอบไปถูกหรือผิด เพราะถ้าหากครั้งหน้าที่ผมเจอคำถามเดียวกัน ผมจะไม่ยอมผิดเป็นครั้งที่สอง

WeTSU : สาขาสาธารณสุขศาสตร์ มีส่วนช่วยสนับสนุนและผลักดันอย่างไรบ้าง

จักรินทร์ : ตลอดเวลาที่ผมศึกษาในสาขาสาธารณสุขศาสตร์ องค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากอาจารย์ เป็นสิ่งที่คอยสนับสนุนให้ผมเติบโตในแต่ละด้าน เพราะอาจารย์จะเพิ่มเติมหลายๆ
สิ่งที่ทำให้เรามีทักษะในการทำงานมากขึ้น เช่น เรื่องการจัดการรูปแบบเอกสารหรือการสร้างงานนำเสนอที่ดี เป็นสิ่งเพิ่มเติมที่ทำให้ผมมีทักษะในการแข่งกันในสนามสอบได้ หรือแม้กระทั่งจบการศึกษาไปแล้วสาขาสาธารณสุขศาสตร์ยังมีการเตรียมความพร้อมให้แก่ศิษย์เก่าในการลงสนามสอบแข่งขันการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ เป็นสิ่งที่สนับสนุนและผลักดันที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จในการบรรจุเข้ารับราชการในวันนี้

WeTSU : ม.ทักษิณ เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของคุณอย่างไร

จักรินทร์ : มหาวิทยาลัยทักษิณ ไม่เพียงแต่เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ทำให้ผมสำเร็จการศึกษาจนได้รับปริญญาบัตร แต่สถาบันที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผมได้เรียนรู้การทำงานตั้งแต่ผมยังเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 การได้ทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย เป็นสิ่งที่คอยสอนเราเสมอว่าให้เราใช้สติในการทำงาน และสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้ยังมอบโอกาสทางการศึกษาให้ผม ช่วงเรียนปริญญาตรีผมได้รับทุนธนาคารต้นไม้ และปริญญาโทที่ผมได้รับทุนจากบัณฑิตวิทยาลัย ในการยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษาตลอดหลักสูตร ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงก่อนบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ
ก็ได้มอบโอกาสในการทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานให้แก่ผม ตลอดระยะเวลาที่ผมได้ร่วมงานกับมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นช่วงเวลาที่ผมได้พัฒนาตนเองและได้สร้างโอกาสอันยิ่งใหญ่ในชีวิต การได้ประสานงานกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ทำให้ผมได้พัฒนาตนเองทางด้านภาษาอังกฤษ การได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมจัดโครงการบริการวิชาการ เช่น โครงการเกาะเต่าโมเดล ทำให้ผมได้เรียนรู้การทำงานกับภาคีเครือข่ายทางด้านสุขภาพอย่างเป็นระบบ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการทำงานตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขของผมได้เป็นอย่างดี “สาขาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ” ทำให้ความฝันการเป็นหมออนามัยของผมเป็นจริง

WeTSU :  ทราบว่าเคยทำงานอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ช่วยเล่าบรรยากาศในการทำงานช่วงนั้นให้ฟังหน่อย มีอะไรประทับใจบ้าง

จักรินทร์ : ถือเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตข้าราชการ เพราะก่อนที่ผมจะได้มาดำรงตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสี่แยกนั้น ผมเคยได้รับการบรรจุในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ซึ่งผมไม่เคยเดินทางไปที่จังหวัดยะลาเลย ในตอนนั้นผมมีความวิตกกังวล และกลัวเรื่องสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ แต่เมื่อผมได้มาสัมผัสกับตัวเองจริงๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอะไรหลายอย่างที่ทำให้ผมได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เข้าใจถึงวัฒนธรรมและได้มิตรภาพที่สวยงาม ผมรับหน้าที่ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระดับอำเภอ อาจจะเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับเด็กจบใหม่แต่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมได้มีการพัฒนาตนเอง ได้กล้าคิด และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงการทำงาน ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน ผมคิดเสมอว่าหากเราทำงานด้วยความตั้งใจ เหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง แต่คุ้มค่ากับตัวเอง ซึ่งการได้เป็นข้าราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นสิ่งล้ำค่า เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจในชีวิตข้าราชการของผมครับ

WeTSU : คิดว่าสาขาสาธารณสุขศาสตร์ ม.ทักษิณ ต้องเพิ่มเติมเรื่องใดอีกบ้างที่ส่งเสริมให้นิสิตสามารถสอบนักวิชาการสาธารณสุขได้

จักรินทร์ : เนื้อหาในการทำข้อสอบตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขครับ ส่วนใหญ่จะเป็นการวิเคราะห์ตามบริบทในการทำงาน เนื้อหาทางด้านวิชาการจะได้รับการเติมเต็มจากอาจารย์ในสาขาวิชามาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่น้องๆ ต้องเตรียมตัวในการทำข้อสอบคือการค้นหาข้อมูลข่าวสารทางด้านสุขภาพใหม่ๆ เพราะระบบสุขภาพของประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ของสุขภาพประชาชนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเราต้องมีความรอบรู้และติดตามการเคลื่อนไหวของระบบสุขภาพ เพื่อที่จะสามารถลงสนามสอบแข่งขันได้อย่างมั่นใจ

 

เราต้องการให้นิสิตเข้มแข็ง ไม่เหนื่อยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่าง ๆ ที่เข้ามาไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียนหรือปัญหาอื่น ๆ และเมื่อมีปัญหาใดก็ตามสามารถแก้ไขได้ด้วยปัญญา มีแนวทางในจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

ต้องการให้นิสิตมีความอยากรู้อยากเห็น ไขว่หาความรู้อย่างต่อเนื่อง เข้าใจโครงสร้างหลักสูตรของตนเองจนพัฒนาตนเองให้มีความสามารถตามที่หลักสูตรต้องการ ทราบและเข้าใจบทบาทหน้าที่ของนักวิชาการสาธารณสุขอย่างชัด ก่อนจบหลักสูตรและหาจุดเด่นความสามารถหรือความถนัดในสายอาชีพของตนเองได้

หวังให้ศิษย์เก่า เป็นคนดีมีคุณธรรม เป็นคนเก่ง ทำงานเป็น มีเหตุมีผล เป็นที่ต้องการของแหล่งงาน เป็นผู้นำในการทำงานที่สามารถทำให้สิ่งแวดล้อมในการทำงานดีขึ้น เป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุคคลอื่นทั้งด้านการงานและการใช้ชีวิต ไม่เปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ดี สร้างชื่อเสียงให้กับคณะ ฯ และมหาวิทยาลัย เป็นเครือข่ายที่ดีของรุ่นพี่รุ่นน้อง เข้ากับคนอื่นได้ง่ายและเป็นที่รักของทุกคน

อาจารย์เสาวนีย์ โปษกะบุตร ประธานสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ กล่าวว่า ความคาดหวังของอาจารย์ในฐานะประธานสาขาสาธารณสุขศาสตร์ต่อนิสิต ทั้งศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่า

*** เครือข่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

 

 

 

กวาด 6 รางวัล จาก “งานวันนักประดิษฐ์ 2562” นิสิต คณาจารย์ ม.ทักษิณ โชว์ไอเดียเจ๋งระดับชาติ

Previous article

นักวิจัย ม.ทักษิณ คิด “ชุดทำสลบแมลงหวี่” ปลอดภัยลดเสี่ยงสุขภาพจากการทดลองด้านพันธุศาสตร์

Next article

Comments

Comments are closed.

Login/Sign up