ผลงานประดิษฐ์คิดค้น แบบจำลองคาบการโคจรและเฟสของดาวศุกร์ (Model of Orbit and Phase of Venus) ของ ดร. สุวิทย์ คงภักดี อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และคณะ ประกอบด้วย นาย มูฮัมหมัดโยฮารี ดือราแม และ นาย แวอิสวาดี หะยีสอเฮาะ นิสิตหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์-ฟิสิกส์ ได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2559 ประเภทรางวัลประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในงานวัน นักประดิษฐ์ ประจำปี 2559 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559
แบบจำลองคาบการโคจรและเฟสของดาวศุกร์ เป็นแบบจำลองทางกายภาพที่ทีมนักประดิษฐ์พัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อประกอบการสอนหรือใช้เป็นอุปกรณ์การทดลองวิชาดาราศาสตร์ เรื่อง ระบบสุริยะเกี่ยวกับคาบการโคจรของดาวเคราะห์ เฟสของดาวเคราะห์ การเคลื่อนที่ถอยหลังของดาวเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในราคาต้นทุนเพียงชุดละ 2,000 บาท โดยใช้กล่องดำแทนห้องมืด หลอดไฟแทนดวงอาทิตย์ ดาวศุกร์ทำจากลูกบอลพลาสติกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 เซนติเมตร ลูกโลกพร้อมกล้องเพอริสโคป (Periscope) ใช้แทนโลกสำหรับมองเฟสของดาวศุกร์และการเคลื่อนที่ถอยหลัง ใช้ชุดเฟืองที่มีอัตราทด 0.61515 เป็นตัวขับเคลื่อนให้ ดาวศุกร์กับโลกโคจรสัมพัทธ์กัน และติดกลุ่มดาวจักรราศีที่ผนังกล่องเป็นดาวฤกษ์อ้างอิง รวมทั้งมีสเกลบอกมุมและวันที่บนฝากล่องเพื่อสะดวกในการระบุตำแหน่งของดาวศุกร์
แบบจำลองนี้จึงสามารถแสดงคาบ Sidereal และ คาบ Synodic ของดาวศุกร์ได้อย่างถูกต้อง และเมื่อ ดาวศุกร์โคจรมาทันโลก หากมองจากกล้องเพอริสโคปก็จะเห็นการเคลื่อนที่ถอยหลังของดาวศุกร์ และแบบจำลองนี้สามารถแสดงเฟสของดาวศุกร์ได้อย่างชัดเจนในห้องเรียนปกติโดยไม่จำเป็นต้องมีห้องมืด นอกจากนี้แบบจำลองยังแสดงเส้นทางเดินปรากฏของดวงอาทิตย์ เวลาขึ้นตกของดาวศุกร์ และยังได้เพิ่มดาวอังคารอีกหนึ่งดวงเพื่อเป็นตัวแทนของดาวเคราะห์วงนอกด้วย
Comments