— ทีม ม.ทักษิณ สุดยอดนักประชาสัมพันธ์ยุติธรรม ไอเดียสร้างสรรค์ คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดสรรค์สร้างแผนประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ด้านงานยุติธรรม แนวคิด “กระทรวงยุติธรรมที่พึ่งของประชาชน” เน้นการสื่อสารสู่สาธารณชนให้เกิดการรับรู้ และเข้าใจถึงบทบาทภารกิจ และงานบริการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้ประชาชนได้รู้จัก เข้าถึง และสามารถติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมได้ หากไม่รับความเป็นธรรม —
กระทรวงยุติธรรม ค้นหาสุดยอดนักประชาสัมพันธ์ไอเดียสร้างสรรค์เพื่อสร้างการรับรู้ด้านงานยุติธรรมจัดประกวดแผนประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ด้านงานยุติธรรม (Young Justice Public Relations 2018 : ไอเดียสรรค์สร้างนักประชาสัมพันธ์ยุติธรรม) ผลงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ๕ จังหวัดชายแดนใต้” ของนิสิตทีมบุคคลพัฒนาชาติ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ คว้ารางวัลรางวัลชนะเลิศมาได้
แนวคิดแผนประชาสัมพันธ์ : เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา 5 จังหวัดชายแดนใต้
เนื่องจากทีมจัดทำแผนกำลังศึกษาอยู่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเล็งเห็นถึงปัญหาว่าประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นพหุวัฒนธรรม และจากเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยที่ผ่านมาในอดีตเห็นได้ว่าประชาชนในพื้นที่ยังไม่เชื่อมั่นกับภาครัฐ โดยส่วนหนึ่งเป็นการเรียกร้องให้ภาครัฐมาสนใจประชาชนในพื้นที่มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันภาครัฐก็ได้ปรับปรุงรูปแบบการทำงานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลภาครัฐมากขึ้น แต่ก็ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่ทราบถึงช่องทางการขอรับบริการไม่ว่าจะเป็นทางออนไลน์หรือติดต่อไปยังศูนย์ยุติธรรมชุมชนโดยตรงซึ่งเป็นเครือข่ายยุติธรรมชุมชนในสังกัดสำนักงานยุติธรรมจังหวัด รวมทั้งไม่เข้าใจถึงบทบาท ภารกิจ และงานบริการของเครือข่ายยุติธรรมชุมชน ภายใต้การดูแลของสำนักงานยุติธรรมจังหวัด ซึ่งหากทางทีมจัดทำแผนได้เสนอแผนเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี ได้เข้าถึงบทบาทภารกิจของกระทรวงยุติธรรมซึ่งมีหน่วยงานในพื้นที่ทุกจังหวัดในพื้นที่ และมีศูนย์ยุติธรรมชุมชนในทุกตำบลผ่านเครือข่าย ก็จะทำให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เข้าถึงความเป็นธรรมโดยเฉพาะภารกิจของกระทรวงยุติธรรมได้มากขึ้น และเกิดความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ต่อหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม
วัตถุประสงค์ที่ 1 : ขับเคลื่อนกลไกการปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์ของสำนักงานยุติธรรมจังหวัดในจังหวัดชายแดนใต้ภายใต้แนวคิด Thailand 4.0
การกำหนดกลยุทธ์
- ยกระดับบุคลากรสำนักงานยุติธรรมจังหวัด ศูนย์ยุติธรรมชุมชน เครือข่ายยุติธรรมชุมชน ใน ชายแดนใต้ให้เข้าใจบทบาท ภารกิจ เพื่อใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือเข้าถึงประชาชน
- พัฒนา เครือข่ายยุติธรรมชุมชน ในจังหวัดชายแดนใต้ให้มีความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์เชิงรุก
- ส่งเสริมให้มีการจัดอบรมเพื่อพัฒนามาตรฐานการทำงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ปลูกฝังจิตสำนึกในการทำงานบริการเพื่อประชาชน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- เครือข่ายยุติธรรมชุมชน ในสำนักงานยุติธรรมจังหวัดชายแดนใต้ทราบถึงบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนและสามารถใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- ศูนย์ยุติธรรมชุมชน ในจังหวัดชายแดนใต้เกิดความกระตือรือร้นในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนยิ่งขึ้น
- สำนักงานยุติธรรมจังหวัดและเครือข่ายยุติธรรมชุมชนทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์ที่ 2 : พัฒนาและเพิ่มช่องทางเทคโนโลยีเพื่อประชาชน 5 จังหวัดชายแดนใต้เข้าถึงบริการของกระทรวงยุติธรรมได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และมีความทันสมัย สอดคล้องกับสังคมพหุวัฒนธรรม
การกำหนดกลยุทธ์
- พัฒนานวัตกรรมโดยลดขั้นตอนและเพิ่มความรวดเร็วในการขอรับบริการ
- เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรในการบริการงานเพื่อประชาชน
- ประชาสัมพันธ์สื่อออนไลน์เพื่อประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึง
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- มีช่องทางการอำนวยการขอรับบริการแก่ประชาชนที่หลากหลาย
- ประชาชนมีความเข้าใจระบบขั้นตอนการใช้สื่อนวัตกรรมในการใช้บริการ
- ประชาชนเพิ่มความเชื่อมั่นในการขอรับบริการจากศูนย์ยุติธรรมในสังกัดกระทรวงยุติธรรม
วัตถุประสงค์ที่ 3 : วิธีการเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้เข้าถึงการอำนวยความเป็นธรรมสู่ประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้อย่างทั่วถึง
การกำหนดกลยุทธ์
- ภาคีเครือข่ายร่วมมือกับยุติธรรมชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การบริการช่องทางการรับข้อมูลข่าวสารในรูปแบบเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง
- เพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์(Social media)ที่ได้รับความนิยม
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการข้อมูลข่าวสารและช่องทางในการติดต่อกระทรวงยุติธรรมในรูปแบบเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลที่หลากหลาย
- ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการอำนวยความยุติธรรมร่วมกับภาคีเครือข่ายและยุติธรรมชุมชน อันเป็นหลักประกันความยุติธรรมตามมาตรฐานสากล
กลุ่มเป้าหมายและพฤติกรรมการรับสื่อของกลุ่มเป้าหมาย
คนในจังหวัดชายแดนใต้หากแยกตามช่วงวัย (Generation) (ที่มา : สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ https://brandinside.asia ) สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มดังนี้
กลุ่มที่ 1 Baby Boomer เกิดระหว่าง 2489-2507
กลุ่มที่ 2 Gen X เกิดระหว่างปี 2508-2523
กลุ่มที่ 3 Gen Y เกิดระหว่างปี 2524-2543
กลุ่มที่ 4 Gen Z เกิดตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นไป
การประเมินผลการดำเนินงานที่คาดว่าจะได้รับ
เมื่อแผนประชาสัมพันธ์ “ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา 5 จังหวัดชายแดนใต้ ” ได้นำไปใช้จริงสามารถสร้างการสื่อสารข้อมูล บทบาท ภารกิจของกระทรวงยุติธรรมให้ประชาชนได้รับรู้ เข้าใจ และประชาชนทราบช่องทางในการติดต่อขอรับบริการจากกระทรวงยุติธรรมได้อย่างหลากหลาย รวดเร็ว สะดวก และ ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารกับคนในท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมซึ่งใช้ภาษามลายูเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร และทำให้ประชาชนเชื่อมั่นต่อกระทรวงยุติธรรมส่งผลต่อความเข้มแข็งของประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ และจะเป็นต้นแบบในการสร้างความเข้าใจ เข้าถึง พัฒนาให้กับภูมิภาคอื่นของประเทศไทยต่อไป
Comments